[SCOOP] หนังรางวัลออสการ์ - Parasite จากชนชั้นปรสิต สู่ปัญหาเศรษฐกิจและอาชญากรรม
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Mar 29, 2020
- 1 min read

เป็นที่น่าตื่นเต้นมากๆ สำหรับภาพยนตร์จากเอเชียเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์ในสาขา Best Picture อย่าง “Parasite : ชนชั้นปรสิต”
ซึ่งทางเราเองได้เคยเขียนรีวิวตัวหนังไปแล้วช่วงที่เพิ่งดูใหม่ๆ แต่เมื่อหนังกลับมาเป็นกระแสจนได้เข้าโรงอีกครั้ง เราจึงขอเล่ามุมอื่นๆ ที่เราสัมผัสได้นอกเหนือจากเรื่องชนชั้นที่เป็นใจความหลักเพียงอย่างเดียว
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทางผู้กำกับและคนเขียนบทเองตั้งใจจะสะท้อนมุมนี้ด้วยหรือไม่ กับสิ่งที่เราได้แง่คิดเพิ่มเติมในเรื่องของเศรษฐกิจและอาชญากรรม ซึ่งเชื่อมโยงกันกับเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม
เพราะความเหลื่อมล้ำ สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากๆ!?
....
ต้องยอมรับกันก่อนว่าสังคมไทยมีช่องว่างระหว่างสังคมค่อนข้างใหญ่ และกว้างพอที่จะแบ่ง “ชนชั้น” กันได้ แม้กระแสโลกยุคใหม่จะรณรงค์เพื่อความเท่าเทียมของมนุษย์กันอยู่ แต่อะไรเล่าที่ทำให้สังคมเหลื่อมล้ำจนเกิดชนชั้นขึ้นมาได้
ก็เรื่องเงินๆทองๆ เรื่องปากท้อง ที่หล่อหลอมไปสู่วัฒนธรรมและการใช้ชีวิต ที่เรียกรวมๆว่า “เศรษฐกิจ” นี่แหละ
อย่างที่เรารู้กันว่าเศรษฐกิจแปรผันอยู่ตลอด ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นลงตลอดเวลา ซึ่งไอ้ชนชั้นกลางอย่างเราๆจะเศรษฐกิจแบบไหนมันก็อยู่ได้อยู่แล้ว เพราะเรามีการศึกษา มีความสามารถ มีงานทำ มีรายได้ประจำ แม้ค่าครองชีพจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็ปรับตัวได้ไม่ยาก ยิ่งชนชั้นสูงยิ่งไม่ต้องพูดถึง
แต่ชนชั้นรากหญ้าที่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้เรียนหนังสือนี่สิ คือปัญหา
แค่ขาดการศึกษาก็ตัดช่องทางทำมาหากินไปมากแล้ว จะบอกว่าจนเพราะขี้เกียจก็ไม่เชิง ไม่อยากให้ตัดสินแบบเหมารวม เพราะคนขยันแต่ขาดโอกาสมันก็ไม่ช่วยให้ดีขึ้น ไม่มีโอกาสแม่แต่จะรู้ว่าตัวเองมีความสามารถอะไร ชอบทำอะไร ชอบเรียนวิชาไหน ฯลฯ
คนกลุ่มนี้เองที่ถูกทิ้งลืมไว้ข้างหลังเสมอ
เพราะชีวิตคนเราต้องการความก้าวหน้า พวกชนชั้นกลางจึงพยายามถีบตัวเองไปให้ไกลจากคำว่ารากหญ้าที่สุด ส่วนชนชั้นสูงเขาอยู่สูงอยู่แล้ว ความพยายามของชนชั้นสูงจึงเหนื่อยกับการประคองตัวไม่ให้ร่วงหล่นมากกว่า
ดังนั้น ชนชั้นรากหญ้าจึงยิ่งถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ช่องว่างทางสังคมก็ยิ่งกว้างมากขึ้นทุกที เพราะพวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสจะผลักดันตัวเองให้ก้าวไกล ลำพังแค่หาเช้ากินค่ำในแต่ละวันก็ไม่มีเวลาไปทำอะไรแล้ว
การพัฒนาชีวิตของชนชั้นกลางนั้นไม่ใช่แค่ตัวเลขของเงินเท่านั้น แต่หมายถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตด้วย เช่น ต้องมีรถ มีบ้าน หรือเรื่องง่ายๆอย่างทานกาแฟแก้วละร้อยได้ทุกวัน ช็อปปิ้งออนไลน์ได้ทุกเดือน ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้มีการเติบโตทางธุรกิจตามมา พวกร้านค้าออนไลน์ บริการส่งของ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า คอนโด ฯลฯ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดจนเลือกอุดหนุนแทบไม่ทัน
จากที่อ่านมา ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ได้ ซึ่งก็ดูเหมือนจะดีแหละ ทว่ามันดีแค่ในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะเงินมันหมุนเวียนกันเองอยู่แค่นี้ มันลงไปไม่ถึงรากหญ้า
ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จึงถูกเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย”
ส่วนชนชั้นกลางและชนชั้นสูงบางรายที่มองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ จนเกิดความเห็นใจและอยากลงไปช่วยเหลือ จะให้ถอยกลับไปใช้ชีวิตแบบผู้ด้อยโอกาสก็คงไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอก เราทุกคนต้องการชีวิตที่ก้าวหน้าอยู่แล้ว พวกเขาจึงทำได้แค่ตั้งมูลนิธิ จัดโครงการการกุศล เปิดรับบริจาค และอีกสารพัดวิธีที่ทำได้แค่พอช่วยเหลือได้
ส่วนโครงการประชานิยม พวกชิมช้อปใช้ รถคันแรก แจกเงิน ฯลฯ มันก็พอช่วยได้ แต่ไม่ถาวร เหมือนเป็นการช่วยแบบยื่นปลาให้คนหิว แต่ไม่สอนวิธีจับ อย่างไรอย่างนั้น
สุดท้าย ปัญหาเศรษฐกิจจะนำไปสู่ปัญหาระดับสังคม คนด้อยโอกาสเหล่านั้นก็คงไม่นั่งแบมือรอความช่วยเหลือทุกคน เขาก็ต้องดิ้นรนของเขา หากแต่บางคนก็ดิ้นรนแบบไม่สนวิธีการ ไม่สนความสุจริต ไม่สนกฎหมาย เพราะชีวิตเขาไม่มีอะไรจะเสียอยู่แล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะหาทางเข้ามาช่วงชิงจากคนข้างบน อันหมายถึงการทุจริต โจรกรรม และอาชญากรรม!!!!
ที่สำคัญ คนเหล่านี้แทรกซึมอยู่ในสังคมทุกชนชั้นเสียด้วย อาจจะแฝงเข้ามาด้วยอาชีพแม่บ้าน ภารโรง รปภ. คนขับรถ คนกวาดถนน ฯลฯ ที่เราสามารถพบเจอได้ทุกวัน ซึ่งเราไม่อาจรู้หน้ารู้หลังได้เลยว่าใครเป็นอย่างไร ใช้ชีวิตแบบอาชญากรรมเกิดขึ้นกับเราเมื่อไรก็ได้ โดยไม่รู้ตัว
....
ในหนังเรื่อง Parasite สะท้อนทุกอย่างที่เขียนมาได้ครบถ้วน จากครอบครัวคิมที่ยากจนแบบไม่รู้จะพัฒนาตัวเองอย่างไร จนได้ไปใช้แรงงานในบ้านมหาเศรษฐีปาร์ค และพยายามช่วงชิงทุกอย่างจากบ้านหลังนั้น ทว่าทนความห่างชั้นไม่ไหว จึงลงเอยด้วยอาชญากรรม
แล้วมันพีคตรงที่ว่า สุดท้ายแล้วอาชญากรรมก็ไม่ช่วยให้พวกเขาได้ทุกสิ่งที่พยายามช่วงชิง กลับไปรากหญ้าผู้ยากจนเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือการใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆ เพราะหนีคดี
แม้หนังจะไม่ได้พูดเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง แต่ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็มีรากฐานจากเศรษฐกิจอยู่ดี ดังที่กล่าวมาข้างต้น
แล้วพอเสียทีกับวาทกรรมที่ว่า “จนเพราะโง่ จนเพราะขี้เกียจ จนเพราะไร้ความสามารถ” เพราะในหนังได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทีเดียว ครอบครัวคิมขยันทำงาน และมีความสามารถที่ดีตามความถนัด ที่สำคัญคือฉลาดล้ำ จนบางทีก็รู้สึกว่าฉลาดกว่าคนมีฐานะอย่างครอบครัวปาร์คด้วยซ้ำ สามารถทำให้คนทั้งบ้านปาร์คเชื่ออย่างสนิทใจ ขนาดว่าจะออกไปเที่ยวหลายวันยังฝากบ้านไว้กับพวกเขาที่เพิ่งเข้ามาทำงานไม่นานเลยทีเดียว
สิ่งสำคัญที่ขาดไปคือ “โอกาส” ต่างหาก เพราะช่องทางในค้นหาความถนัดหรือแสดงความสามารถนั้นไม่เอื้อเฟื้อต่อคนยากไร้ และนี่อาจทำให้คนจนจึงจนตลอดปีตลอดชาติ ไม่อาจยกระดับตนเองขึ้นมาได้เสียที!?
留言