top of page
Featured Posts

The Ordinary [บุคคลสามัญ] : หลังไมค์ นอกเวที กับบีเบนซ์ "พงศธร ธิติศรันย์"

  • สินิทธ์ ปนุตติกร
  • Jul 28, 2019
  • 5 min read

เบนซ์ คือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์หนังสือ 5 pages at least ที่เรากำลังทำอยู่ขณะนี้

เจอกันครั้งแรก ตอนที่เบนซ์มาอบรมแต่งเพลงในโครงการหนึ่งซึ่งเราเป็น staff เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นแอบเห็น ‘ของ’ บางอย่างในตัวมัน แต่ยังไม่ชัดพอที่จะอธิบายได้ว่าคืออะไร จากนั้น เราก็ได้เห็นเบนซ์ทำหลายๆอย่าง ทั้งเป็นพิธีกรอีเวนท์ ทั้งพิธีกรรายการทีวี ทั้งเขียนหนังสือ จนได้เจอมันในการประกวดนักพูดผ่านรายการทีวีรายการหนึ่ง นี่เองที่เราเห็น ‘ของ’ ของมันชัดเจนและเปล่งประกาย ภายใต้นามแฝง ‘บีเบนซ์’ กับการเป็นนักพูดหรือ stand-up comedy ที่น่าจับตามองในวงการ

เราเห็นพัฒนาการของเบนซ์มานานหลายปี แต่ไม่เคยได้คุยกันจริงจังเสียทีว่ามันเป็นอย่างไร สบายดีไหม ผ่านอะไรมาบ้าง ฯลฯ ในที่สุดเราก็นัดเจอกันจนได้ (ซึ่งกว่าจะได้คิวมาก็นานโข) อยากรู้เหลือเกินว่าแนวคิดและประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของมันเป็นอย่างไร

มาติดตามไปพร้อมๆกันครับ

แนะนำตัว

“บีเบนซ์” พงศธร ธิติศรันย์ ครับ ตอนนี้ก็ทำงานพิธีกรกับทำค่ายครับ ทั้งค่ายเด็ก ค่ายนักเรียน นักศึกษา ผู้ใหญ่ คนสูงวัย ประมาณนี้ครับ

ถ้าจะให้นิยามตัวเองแค่อย่างเดียว คิดว่าเราเป็น ‘นัก’ อะไร?

ผมเกริ่นก่อนเลยนะ ตอนนี้เวลาเจอใครถามว่า “เบนซ์ ทำอาชีพอะไร?” ผมจะอึ้ง ‘นี่ตกลงกูทำอาชีพอะไรวะ?’ จะบอกว่าเป็นพิธีกร คนก็จะนึกภาพว่า ‘พิธีกร....ช่องไหนล่ะ?’ ผมก็ เอ่อ....ไม่ใช่อย่างนั้นครับ เป็นพิธีกรอีเวนท์ครับ ‘อ่อ....อีเวนท์แบบไหนล่ะ?’

สุดท้าย ผมก็เลยบอกเขาไปว่า ผมเป็นคนทำค่าย เป็นผู้ดำเนินรายการ ให้งานนั้นดำเนินไปได้อย่างราบรื่นที่สุด สนุกที่สุด ประมาณนี้ครับ

แต่ถ้าจะระบุให้ชัดๆไปเลยว่าเป็น ‘นัก’ อะไร?....ผมขอเรียกว่าเป็น ‘นักจัดการบนเวที’ ละกันครับ

แล้ว ‘นักจัดการบนเวที’ กับ ‘พิธีกร’ ต่างกันอย่างไร?

ในมุมของผม คิดว่าไม่ต่างกัน แต่ในมุมมองของคนอื่นที่เราพูดให้เขาฟังจะแตกต่าง อย่างที่บอกว่าเขาจะนึกภาพพิธีกรไว้เป็นอย่างนึง หรือถ้าบอกว่านักจัดการบนเวที เขาก็นึกภาพว่าเราจะต้องอยู่บนเวที

แต่จริงๆแล้วในความหมายของเรา คำว่า “เวที” หมายถึง พื้นที่การนำเสนออะไรสักอย่าง แล้วเรามีหน้าที่ช่วยให้การนำเสนอนั้นไหลลื่นขึ้น สนุกขึ้น เขาว่ากันว่า ทุกอาชีพคือการแก้ปัญหา สิ่งที่ผมทำคือแก้ปัญหาความตะกุกตะกักภายในงานต่างๆ เอนเตอร์เทนผู้ร่วมงาน และช่วยเหลือให้เขารับสารที่ภายในงานจะสื่อได้มากที่สุดครับ

แล้วเวทีสำหรับบีเบนซ์ ควรเป็นที่แบบไหน?

ผมว่าเวทีแม่งคือทุกที่เลย อาจจะไม่ใช่งานก็ได้ สมมตินั่งกินข้าวกับเพื่อนอยู่สิบคน แล้วมีคนเล่าเรื่องขึ้นมา โต๊ะกินข้าวนั้นก็ถือเป็นเวทีแล้วนะ

สำหรับผม เวทีมันเหมือน ‘ช่วงเวลาและความสนใจของคน’ มากกว่า เช่นการทำค่ายนี่มันไม่ได้มีเวทีอยู่ข้างหน้า แต่เวทีมันคือทั้งห้อง ที่ผมและสมาชิกค่ายได้ทำกิจกรรมร่วมกัน การได้ยืนข้างๆเขาก็เหมือนอยู่บนเวทีแล้ว

ย้อนเวลากลับไป ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า ด.ช. พงศธร เป็นเด็กแบบไหน?

เด็กๆผมชอบวิชาคณิตศาสตร์มาก (เฮ้ย จริงอ่ะ?) จริงครับ ถ้าพี่ให้ตัวเลขผมมาแบบหลักร้อยหลักพันแล้วมาบวกลบกัน ผมสามารถตอบได้ภายใน 10-15 วินาทีเลย สมัยเด็กอยู่ในห้องเรียน เวลาครูให้โจทย์คณิตศาสตร์มา เพื่อนๆจะนั่งกดเครื่องคิดเลขกัน แต่ผมนี่คิดแล้วตอบได้เลย

อีกอย่าง ผมจะเก่งเรื่อง GAT มาก ตอนสอบ GAT/PAT นี่ได้เต็มตลอด แต่เฉพาะเรื่องความเชื่อมโยงนะ พวกภาษาอะไรนี่ไม่ได้ (หัวเราะ)

ถ้าเป็นเรื่องนิสัย ผมเป็นเด็กที่คิดอะไรแล้วพูดอย่างนั้น ไม่ได้นึกถึงความรู้สึกคนอื่น ผมทะเลาะกับเพื่อนในกลุ่มอยู่บ่อยๆ จากการที่พูดออกไปแล้วคิดว่าตลกดีแต่เพื่อนไม่เล่นด้วย บางทีแม่งโกรธกันเป็นอาทิตย์เลยนะ (หัวเราะ)

มีตัวอย่างนึง คือวันนั้นเป็นวันก่อนสอบ แล้วเพื่อมันนั่งอ่านหนังสืออยู่ ส่วนผมก็นั่งเล่นกีตาร์ แต่งเพลงล้อมัน แบบ “มึงอ่านหนังสือสอบทำไม กูไม่อ่าน กูก็สอบได้ แท-แด-แดม แท-แด-แดม....” อยู่ๆมีรองเท้าลอยมาหา....อ่ะ แม่งโกรธกูละ (หัวเราะ)

เวลาทะเลาะกับเพื่อน ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะผม ผมเป็นคนพูดไม่คิด และไม่ชอบยอมแพ้ใคร แต่พอถึงจุดนึงก็เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ทุกวันนี้เวลาผมทำงานพิธีกร หรือทำ stand-up comedy ผมจะระวังคำพูดมากๆ จะต้องวิเคราะห์ว่า คนฟังหน้าตาแบบนี้ ควรจะพูดกับเขาแบบไหน สิ่งไหนที่ผมไม่ชอบ ผมก็จะพยายามไม่ทำกับคนอื่นเหมือนกัน กลายเป็นคนที่แคร์ความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น

ดังนั้น ตอนเด็กผมเหมือนได้ทดลองว่าสิ่งไหนดี/ไม่ดี และสุดท้ายก็ได้เรียนรู้ว่า การพูดอะไรให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจเนี่ย เป็นสิ่งที่ไม่ดี

ผลการเรียนสมัยเด็กล่ะ?

โห เรียนเก่งมาก ป.1-ป.4 นี่สอบได้ไม่เคยเกินที่ห้า แถมตอน ป.4 เคยได้เกียรติบัตรเรียนดีด้วยนะ คือแม่ผมจะปลูกฝังว่า เป้าหมายของการเรียนคือการสอบได้ที่หนึ่ง ตอนเด็กผมจึงทำทุกอย่างเพื่อให้สอบได้ที่หนึ่ง แต่พอเข้ามัธยม ผลการเรียนก็เริ่มต่ำลง มันเหมือนกับผมเคยได้ที่หนึ่งมาแล้วอ่ะ ทำสำเร็จแล้ว แล้วยังไงต่อ? เลยไม่ได้ใส่ใจกับมันมากแล้ว เหมือนนักบอลที่ผ่านช่วงพีคมาแล้วและกำลังเข้าสู่ขาลง

ตอนที่เกรดตก แม่ว่าไงบ้าง?

แม่ก็บ่นนะ แต่ก็บ่นไม่นานมาก คือตอนนั้นผมเริ่มเล่นดนตรีแล้ว เด็กๆผมเคยเป่า melodeon จนสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัดได้ เป็นห้องพิเศษที่ใช้ความสามารถทางดนตรีเพื่อที่จะสร้างเป็นวงดุริยางค์ของโรงเรียน และผมก็ได้เป่า trumpet ในวง ซึ่งแม่ก็เริ่มเห็นสายงานใหม่ของผมละ แต่ผลการเรียนก็ไม่ได้แย่มากนะ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ ไม่ได้ตกต่ำขนาดที่ใครจะบอกว่าเราเรียนไม่ดี แค่ไม่ได้อยู่เป็น top 5 อีกแล้ว

แล้วความเป็นเด็กกิจกรรมนี่ ฉายแววมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า?

มันเริ่มต้นจากการเข้าวงดุริยางค์นี่แหละ มันทำให้ได้รู้จักคนในวงกว้าง แบบสมมติถ้าผมเรียนอยู่ห้องหนึ่ง ผมก็จะรู้จักแต่เพื่อนในห้องหนึ่ง แต่การที่ผมอยู่ในวงดุริยางค์มันทำให้หลายคนรู้จัก หลายคนเข้ามาทัก ก็ได้เพื่อนที่หลากหลาย

พอตอนม.ปลายผมย้ายโรงเรียนมาอยู่เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นการย้ายแบบไม่หลงเหลืออะไรเลย คือเริ่มต้นใหม่จริงๆ วันแรกที่ผมเข้าโรงเรียน ผมไม่กล้าไปกินข้าวเลยนะ มันทำตัวไม่ถูกอ่ะ จนผมเริ่มเข้าค่ายครั้งแรก เป็นค่ายธรรมะทั่วไป ซึ่งก่อนจะจบค่ายเขาให้โอกาส “ใครมีอะไรอยากจะพูดไหม?” ด้วยความที่ผมอึดอัดมานาน มันทนไม่ไหวแล้ว ก็เลยยกมือ แล้วก็พูดหลายๆเรื่องออกไป ซึ่งมันกลายเป็นสนุก และทุกคนในค่ายจำผมได้ กลับมาที่โรงเรียน กลายเป็นผมมีเพื่อนกับทุกห้อง

นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า การเข้าค่ายมันทำให้เราเป็นจุดสนใจ ทำให้คนรู้จักเรา ตั้งแต่นั้นมาผมก็เริ่มชอบเข้าค่าย และชอบพูดความในใจก่อนจบค่ายตลอด ตั้งแต่ม.ปลายยันจบมหา’ลัยเลยครับ

มีค่ายแบบไหนบ้าง?

โห เยอะมาก ค่ายยุวพุทธ ค่ายธรรมกายก็เคย (หัวเราะ) ค่ายคูโบต้าดำนา ค่ายกฎหมายศาลปกครองเยาวชน ค่ายอาสาพัฒนาชุมชน ไปสร้างโรงเรียนที่เชียงราย ค่ายที่ให้เราไปคุยกับคนพม่าที่อยู่ไทย ฯลฯ ครบทุก content เลยนะ ซึ่งแต่ละค่ายมันก็ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนต่างมหา’ลัย และเขาก็บอกว่าที่มหา’ลัยเขามีค่าย และผมก็ไป ทั้งที่ไม่ได้อยู่มหา’ลัยเขาด้วยซ้ำ ใน facebook ผมจะหาค่ายอยู่ตลอด

ช่วงมหา’ลัย ผมเคยเรียน 3 วัน ไปค่าย 4 วัน ทุกอาทิตย์ทั้งเดือน บางทีก็โดดเรียนไปเข้าค่าย เรียกว่าเข้าค่ายมากกว่าเข้าเรียนอีก

แล้วค่ายเหล่านั้น มันส่งผลต่อการทำงานในวันนี้หรือไม่?

โคตรส่งผลเลย (ตอบสวนทันที) คือตอนเข้าค่ายเนี่ย เวลาเราพูดมันจะสนุก ดังนั้น เวลามีค่ายอื่นต่อ เขาก็จะเรียกเราให้ไปช่วยทำ บางครั้งก็ฟรี บางครั้งก็....เฮ้ย กูได้ตังค์ด้วยเหรอวะ? ยิ่งช่วงปี4 นี่ได้ทำค่ายที่ได้เงินหลายค่ายเลย

พอเรียนจบ ตอนแรกก็คิดจะไปทำงานประจำ แต่พอดีว่าตอนนั้นมันยังมีค่ายให้เราได้ทำอยู่เรื่อยๆ แล้วมันอยู่ได้ และต่อยอดไปสู่งานอื่นๆเรื่อยมาจนทุกวันนี้

เห็นว่าเคยเขียนหนังสือด้วย?

อย่างที่บอกว่าผมเข้าค่ายทุกประเภท โดยเฉพาะค่ายนักเขียนนี่เยอะมาก ค่ายเขียนการ์ตูนก็ไป มันก็บ่มเพาะให้เราได้ฝึกเขียน บางค่ายก็ออกผลงานให้เรา จนเราก็ได้งานเขียนหนังสือบ้างในทุกวันนี้ และได้มีหนังสือเป็นของตัวเองด้วยครับ

เป็นทั้งนักพูด พิธีกร นักจัดการบนเวที นักเขียน รวมทั้งนักดนตรีด้วย เคยมีคนบอกว่าเราเป็น ‘เป็ด’ บ้างไหม?

ไม่เคยนะ....อืม ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้เลยว่ะ แต่สำหรับผม ผมมองว่าทุกอย่างคือสิ่งเดียวกัน คืองานศิลปะ ผมชอบศิลปะการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม

ถ้างั้น มีมุมมองต่อคำว่า ‘เป็ด’ อย่างไร?

สำหรับผม ผมยังหาข้อเสียไม่เจอ สมมติเราเก่งเรื่องพูด และเราก็เก่งเรื่องแต่งหน้า เราก็สามารถเป็นพิธีการรายการแต่งหน้าได้ อะไรอย่างนี้ คือการที่เรารู้ 5 อย่าง และไปเรียนรู้อย่างที่ 6 มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะลงลึกใน 5 อย่างแรกไม่ได้

คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง?

ผมว่าความสำเร็จของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน ฉะนั้น ถ้าถามว่าผมประสบความสำเร็จหรือยัง? ผมว่าผมสำเร็จในทุกๆวันอยู่แล้วนะ ผมเขียน post it ว่าวันนี้จะทำอย่างนี้ๆ แล้วก็ได้ทำ มันก็....เออ สำเร็จละ แต่สำหรับบางคน ความสำเร็จอาจเหมือนกับที่ใครเคยบอกกันมา ว่าคือการมีเวลา การได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ และการมี passive income ซึ่งก็แล้วแต่คน

สมมติตอนนี้ เราไม่ได้ทำทั้งหมดที่ว่ามา คิดว่าตัวเองจะทำอาชีพอะไร?

อืม ผมคิดไม่ออกอ่ะ ถ้าไม่ได้ทำ ผมก็คงเสาะหาหนทางที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้ เหมือนถ้าถามพี่ ตูน Bodyslam ว่าถ้าไม่ได้ร้องเพลงแล้วจะทำอะไร พี่ตูนก็คงตอบว่า “ยังไงผมก็ต้องร้องเพลงครับ” อะไรอย่างนี้

เข้าสู่วงการนักพูด หรือ stand-up comedy ได้ยังไง?

พอเราเข้าค่ายเยอะ รู้สึกว่าเราพูดได้ แบบพูดแล้วคนตลก คนสนุก แต่ยังไม่ได้เป็นพิธีกรนะ แค่รู้ตัวว่าพูดได้เฉยๆ ตอนนั้นก็เริ่มประกวดเลยครับ ที่ไหนมีประกวด ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ฯลฯ แต่ตกรอบหมดเลย (หัวเราะ)

คือผมรู้แหละ ว่าผมพูดได้ แต่ยังขาดทักษะอื่นๆ ทั้งการใช้เสียง การเว้นจังหวะ การแสดงท่าทาง ฯลฯ ฉะนั้น ทุกครั้งที่ผมไปประกวด แม้จะตกรอบ แต่อย่างน้อยผมก็ได้เห็นคนอื่นทำ แล้วก็วิเคราะห์ แบบคนนี้ต้องเข้า แล้วแม่งก็เข้าจริงๆ คนนี้ไม่น่าได้ แม่งก็ไม่ได้จริงๆ ซึ่งเราก็สังเกตได้ว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของคนที่ดูแล้วน่าจะเข้ารอบ คือความมั่นใจ มันฟังดูเป็นเรื่องนามธรรมนะ แต่แบบ....สมมติมีคนเดินมาสองคน คนนึงมีความมั่นใจ กับอีกคนที่ไม่มี มันดูออกเลยนะ คนที่มีความมั่นใจเหมือนมีออร่าบางอย่างเปล่งประกายอยู่

ผมเลยคิดว่าความมั่นใจมันฝึกกันได้ โดยวิธีการทำมันไปเรื่อยๆ ศึกษาและสังเกตมันไปเรื่อยๆ ซึ่งมีอยู่ 2 งานที่เปลี่ยนชีวิตผมไปเลย งานแรกคือ ‘MCOT Smart TV The Audition’ เป็นงานประกวดพิธีกรช่อง9 ในตอนนั้น เขาใช้วิธีให้ทุกคนที่เข้าประกวดนั่งรวมกันแล้วค่อยออกไปพูดทีละคน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ผ่านเข้ารอบ และได้เป็นตัวสำรองในรอบ 20 คนสุดท้าย แม้ผมจะเป็นได้แค่ตัวสำรอง แต่ตอนนั้นก็เริ่มภูมิใจ ว่าเรามาไกลกว่าที่ผ่านๆมาละ

อีกงานก็คือ ‘เดี่ยวดวลไมค์ไทยแลนด์’ ของช่อง Workpoint ก็สมัครไป แล้วก็ตกรอบ (หัวเราะ) แต่มันมีอยู่ 2 แบบ คือคนที่ตกรอบแล้วไม่ได้ออกอากาศ กับคนตกรอบแล้วได้ออกอากาศ ซึ่งผมอยู่ในกลุ่มหลัง และจากตรงนั้นเองที่ทำไห้ผมได้ทำงานพูดจนถึงทุกวันนี้

บังเอิญที่พี่ยู (กตัญญู สว่างศรี) ได้เห็นผมจากรายการนั้น เขาโพสต์ลง facebook ประมาณว่า “ไอ้ห่า ทำไมคนนี้แม่งไม่เข้ารอบวะ?” (หัวเราะ) พอผมเห็นโพสต์นั้น ก็แอบ add friend แกไป แล้วก็คุยกับแกว่าดูแล้วเป็นยังไงบ้าง คุยกันยาวเลย แล้วพอดีช่วงนั้นพี่ยูกำลังจะทำเดี่ยวฯ ให้เพื่อนๆได้โชว์กันหลายๆคน แกก็ให้ผมลองดู กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำ talk show ของผมเลยครับ

ถึงตรงนี้ มันทำให้ผมคิดได้เลยนะ ว่าทุกการประกวดของเรานั้นไม่เสียเปล่า ถึงจะตกรอบแม่งทุกงาน แต่มันทำให้เราได้เจอคนใหม่ๆ และโชคดีได้เจอคนที่มาชวนให้ไปทำต่อด้วย

โดยปกติ stand-up comedy จะมีแต่เรื่องตลกสนุกสนาน แล้วชีวิตของคนทำอาชีพนี้ มีเรื่องเศร้า เรื่องดราม่า หรืออะไรที่มันไม่ตลกบ้างไหม?

ผมว่าเรื่องราวบนเวทีมันขับเคลื่อนด้วยสิ่งเหล่านี้แหละ พวกเรื่องดราม่าเรื่องเศร้าทั้งหลาย....สมมตินะ ถ้าผมขึ้นเวทีไปเล่าว่า ผมไปประกวดรายการนี้มา ผมเข้ารอบ ผมชนะเลิศ ได้เงินแสน....ใครมันจะไปอยากฟัง แต่ถ้าผมเล่าว่า ผมไปเช่ามอเตอร์ไซค์มา แต่พอถึงกำหนดคืน ผมกลับหาร้านไม่เจอ จำไม่ได้ว่าอยู่ที่ไหน ผมขับวนอยู่นาน แล้วฝนก็เสือกตกอีก แม่งโคตรซวย...อะไรแบบนี้ คนแม่งจะอินเว้ย

ผมว่า stand-up comedy มันคือการเปิดบาดแผลให้คนดูอ่ะ เปิดเรื่องดราม่า เปิดเรื่องผิดหวัง เปิดเรื่องแย่ๆให้คนฟัง แล้วตีกลับมากลายเป็นเรื่องตลก ถ้าคุณสังเกตทุกเรื่องที่พี่โน้ส (อุดม แต้พานิช) เล่า แม่งเรื่องดราม่าทั้งนั้นเลย อย่างเดี่ยว 11 ที่พี่โน้สเล่าตอนไปดูฉลามที่ออสเตรเลีย ถ้าแกเล่าว่า โห มันสวยมาก ฉลามตัวใหญ่มาก มันคงไม่สนุก แต่พอเป็นเรื่องที่แกเมาเรือ อ้วก ท้องเสีย หนาว ฯลฯ มันกลับสนุกขึ้นมา

ผมว่าคนฟังมันสนุกตรงที่ได้ ‘หัวเราะเยาะเย้ย’ อ่ะ เย้ยคนเล่าว่ามึงไปเจอเรื่องซวยมา แต่มันอยู่ในจุดที่ผู้เล่าพอใจจะให้เยาะเย้ยได้

ฉะนั้น การทำเดี่ยวฯเนี่ย มันคือการไปเจอเรื่องแย่ๆมา แล้วมาเล่าให้ผู้คนได้หัวเราะเยาะเย้ยเรา แต่มันต้องผ่านการทำบท ผ่านการขัดเกลา ให้คนฟัง enjoy อย่างไหลลื่น

ช่วงที่ตกรอบบ่อยๆ มีท้อบ้างไหม?

ท้อครับ แต่พอผมท้อเสร็จ ผมจะกลับมานึกได้ว่า ที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของเรา 100% เราไม่ได้ถนัดด้านนี้ แต่เราทำเพราะเราอยากได้ประสบการณ์ อยากไปเจอผู้คน ว่าไอ้คนที่เขาทำได้เนี่ยต้องเป็นยังไง แล้วก็มาปรับใช้กับตัวเอง สำรวจตัวเราเองว่าเป็นแบบนั้นได้ไหม

งาน stand-up comedy มีความน่าหลงใหลและมีความน่าเบื่อยังไงบ้าง?

ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่านักเขียนคืออาชีพที่น่าอิจฉาที่สุดในโลก เพราะ 1. ได้รายได้ และ 2. ได้ทบทวนชีวิตตัวเอง ผมว่างาน stand-up comedy คล้ายกับงานเขียนตรงที่มันคือการเล่าเรื่องชีวิตของเรา แล้วไอ้ความที่มีคนสนใจชีวิตเราเนี่ย มันรู้สึกดีนะ ผมว่าคนทำงานศิลปะคือคนที่เอา content ต่างๆที่เจอในชีวิตมาเล่าอ่ะ มันคือการได้ระบายและรู้สึกมีคุณค่าในเวลาเดียวกัน

ฉะนั้น เสน่ห์ของ stand-up comedy คือการเอาตัวเองออกมาให้คนอื่นได้รับรู้ ได้สนใจ ส่วนความน่าเบื่อคือไอ้ช่วงเตรียมตัวก่อนงานเริ่มนี่แหละ ผมให้ 99% เลย คือจะหงุดหงิด เก็บกด เครียด พี่โน้สเคยบอกผมว่าช่วงก่อนเขาทำเดี่ยว เขาเหมือนคนมีประจำเดือนเลย ซึ่งพอผมมาทำเองก็ “เออ จริงว่ะ” ตอนผมไปดูงานไอ้ Sucksave แฟนมันเดินมาหาผม บอก “เนี่ย พี่เบนซ์ ก่อนหน้านี้ไอ้เซฟแม่งเห็นหนูเหมือนถังขยะเลยพี่” (หัวเราะ) มันหงุดหงิด ฉุนเฉียว นู่นนั่นนี่ ผมก็บอกเขา ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่คนจะทำอะไรอย่างนี้เขาเป็นกัน

ความคาดหวังของคนดู มันกำลังเหมือนเราขับรถไปข้างหน้า แล้วรู้ว่ามีเหวแน่ๆ แต่กูจะเจอเหวเมื่อไรวะ มันกังวลว่าเล่าอันนี้ไปแล้วคนจะขำไหม เข้าใจความรู้สึกคนทำหนังเลยนะ ไอ้วันที่หนังออกฉายครั้งแรกเนี่ย อาการน่าจะไม่ต่างกัน แต่เชื่อไหม ไอ้ความหงุดหงิดกดดันตรงนั้นแม่งช่วยผลักดันให้เราทำสำเร็จได้ สำหรับผมนะ

แล้วเคยมีประสบการณ์ขึ้นไปเล่าแล้วไม่ฮาไหม?

โห เยอะเลย (หัวเราะ) ครั้งแรกที่ผมขึ้นเวทีของพี่ยูอ่ะ แกแสดงสองวัน วันแรกนี่คือเหี้ยเลย (หัวเราะ) ไม่ใช่แค่คนไม่ขำนะ แต่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราเล่าเรื่องอะไร วันนั้นผมกลับบ้านมาแบบ จบแล้วอนาคตกูกับวงการนี้ จำได้ว่านั่งมองตู้เสื้อผ้าแล้วน้ำตาไหลคนเดียวอ่ะ (หัวเราะ) วันที่สองนี่ บอกตรงๆว่าไม่อยากไปละ คือรู้สึกว่ามันจบแล้วอ่ะ แต่ก็ไปอยู่ดี ไปแบบช่างแม่งละ ไม่มีอะไรจะเสียละ ไอ้สัส แม่งมาเฉย! ทั้งที่พูดเหมือนเดิม เล่าเรื่องเดิม สคริปต์เดิม

ผมรู้สึกว่าแม่งเป็นศาสตร์ที่ประหลาดมากเลย วันแรกคนไม่ขำ วันที่สองคนขำ ทั้งที่แม่งเรื่องเดียวกัน มันทำให้ผมต้องสังเกตสิ่งต่างๆเสมอว่าบรรยากาศแบบนี้ คนลักษณะนี้ เล่าแบบไหนถึงจะขำ แบบไหนถึงจะไม่ขำ อารมณ์เหมือนฉายหนังตอนบ่ายโมงกับสองทุ่ม คนดูจะคนละกลุ่มกัน คนอายุ13 กับคนอายุ30 ก็จะได้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน อะไรอย่างนี้

แล้วมีวิธีผ่านช่วงเวลาที่มันแป้กๆไปได้ยังไง?

ผมโชคดีที่มีทักษะจากการทำค่ายมาเยอะ เลยพอจะเอนเตอร์เทนนอกสคริปต์ได้ สมมติเล่าไปแล้วไม่ขำ ก็แซวคนดูแม่งเลย อะไรอย่างนี้ ก็ผ่านไปได้นะ แต่ก็อาจตะกุกตะกักบ้าง เพราะมันก็ด้นสดเหมือนกัน

จากวันนั้น ถึงวันนี้ที่เรามีโชว์ใหญ่ของตัวเองเป็นครั้งแรก มีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?

คือหลังจาก “เดี่ยวดวลไมค์ไทยแลนด์” พี่ยูก็ชวนมาเล่นงานของแกอย่างที่บอกไป ซึ่งตอนแรกผมได้ไปแค่รอบซ้อม แต่พี่ยูก็บอกว่า “เฮ้ย มึงเล่าได้ว่ะ” ก็เลยได้โชว์วันจริงด้วยเลย จากนั้นก็ไปงานพูดกับพี่ยูไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ปี มีวันนึง ที่หอศิลป์ฯกรุงเทพเขาประกาศรับสมัครคนทำโชว์ที่นั่น ผมก็สมัครไป แต่ไม่ได้ ก็ไม่แปลกใจหรอก เพราะผมเขียนพวกโครงการนำเสนอแผนงานอะไรพวกนี้ไม่เป็น ก็มาบอกพี่ยูว่ามีสมัครอันนี้ไปแต่ไม่ได้ พี่ยูกลับบอกกับผมว่า “เฮ้ยมึง เดี๋ยวกูจะพามึงไปเล่นที่นั่นให้ได้”

วันนึง พี่ยูจะทำโชว์ให้พี่ปอนด์ (ภาริษา ยาคอปเซน) ที่หอศิลป์ฯ ซึ่งโชว์มีตอนบ่าย แล้วตอนเย็นโรงมันว่างพอดี พี่ยูก็เลยมาถามผมว่าอยากทำไหม ผมก็ตอบรับทันที ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่มีบท ยังไม่มีห่าอะไรในหัวเลย (หัวเราะ) แต่เอาไว้ก่อน จากนั้นผมก็กลับไปคิดคอนเซ็ปต์ คิดชื่อโชว์มา ก็คิดว่าตอนนั้นเราเบญจเพสพอดี ก็เลยอยากเล่าเรื่องนี้ เลยตั้งชื่อโชว์ว่า “เบนซ์จเพส” เป็นงานที่ผมคิดบทเอง 100% แต่ก็มีซ้อมให้ทีมพี่ยูดู เหมือนเป็นทีมครีเอทีฟคอยที่ช่วยขัดเกลาอีกที แล้วก็มีถ่ายโปสเตอร์โปรโมทบน facebook ขายบัตร ฯลฯ ทำทุกอย่างด้วยตัวเองหมด

ถ้ามองย้อนกลับไป บอกเลยว่าเป็นงานที่โคตรยากกกก! โคตรท้าทาย วันนั้นหลังจบโชว์ ทุกคนกลับกันหมดแล้ว แต่ผมยังนั่งอยู่ในโรง นั่งคิดแบบ....”ไอ้เหี้ย จบแล้วเหรอวะ?” เหมือนเราคิดมากไปเองอ่ะ ว่าเราทำงานหนักมาตั้งหลายเดือนเพื่อมาโชว์แค่ชั่วโมงครึ่งเอง อารมณ์เดียวกับที่เราตั้งใจเรียนมาทั้งปี เพื่อขึ้นไปรับเกียรติบัตรเรียนดี....แล้วไงต่อวะ? แต่ก็ไม่ได้อะไร ก็จบแค่นั้นครับ

อ้อ ลืมบอกไปว่าก่อนจะถึงวันงาน พี่ยูมีพาผมไปหาน้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) มาด้วย ผมก็ขอคำแนะนำ น้าเน็กบอก “เบนซ์ มึงจำไว้เลย การเล่าครั้งแรกสุดมันจะเป็นเหมือนนามบัตรของมึง” พร้อมเผยว่าวิธีการเล่าของน้าด้วย คือจะแบ่งเป็น 4 ส่วน ให้คิดว่าโชว์ของเรามีกล่องอยู่ 4 ใบ แล้วค่อยๆเปิดกล่องทีละใบให้ผู้ชมดู โดยแต่ละกล่องมีเวลา 20-25 นาทีเท่านั้น กลับบ้านผมไปคิดเลย กล่อง 4 ใบมี 1.วัยเด็ก 2.วัยรุ่น 3.วัยทำงาน 4.บทสรุป ซึ่งทุกเรื่อง มาจากตัวเราเองจริงๆ เลยทำให้ผมสามารถพูดได้ตลอดชั่วโมงครึ่งโดยไม่ต้องมีสคริปต์เลยครับ

หลังจากงาน “เบนซ์จเพส” กระแสตอบรับเป็นอย่างไร ชีวิตเปลี่ยนไปบ้างไหม?

กระแสตอบรับดีนะครับ มีคนรู้จักมากขึ้น แต่ถามว่าชีวิตเปลี่ยนไหม? คือมันเปลี่ยนแค่เวลาผมไปทำงานให้คนใหม่ๆ ผมจะชอบเปิดคลิปงานนี้ให้ดู แล้วเขาก็จะเรียกผมว่า “เบนซ์ สแตนด์อัพ” อะไรอย่างนี้ ทุกคนที่ได้ดูจะพูดประมาณว่า “ทำได้ไงวะ ดีว่ะ”

คือถ้าให้ผมพูด ในฐานะคนทำก็ต้องยอมรับว่ามันยังดีไม่ 100% หรอก แต่อย่างน้อยมันก็ทำให้คนรู้จักความสามารถของเรา ฉะนั้น สิ่งที่เปลี่ยนไป คือคนรู้ว่าเราทำอะไรได้ และถ้างานไหนต้องการเอนเตอร์เทน ต้องการความสนุก เขาก็จะนึกถึงเรา

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า stand-up comedy ในเมืองไทยรู้จักกันอยู่แค่คนเดียว ก็คือพี่โน้ส อุดม แต้พานิช พอเรามาทำบ้าง เคยถูกเปรียบเทียบกับพี่โน้สบ้างไหม?

มีนะครับ ยิ่งหน้าตาด้วยเนี่ย ถ้าผมใส่หมวกจะมีแต่คนบอกว่าเหมือนพี่โน้สเลย ช่วงที่ผมไปพูดในค่าย คนก็จะบอกว่า “เฮ้ย พี่โน้สเข้าสิงป่ะเนี่ย” (หัวเราะ)

หรือตอนนี้ ถ้าพิมพ์เข้าไปใน youtube ว่า ‘บีเบนซ์ เดี่ยวดวลไมค์ไทยแลนด์’ คุณจะเห็นคอมเมนต์นะ อันนึงชมว่าเก่งเหมือนพี่โน้ส อีกคนด่าว่าก๊อปพี่โน้ส เชี่ยอันนี้ผมขำมากเลยนะ หัวเราะออกเสียงอยู่คนเดียวนานเลย (หัวเราะ)

ผมว่าไม่ใช่แค่ผมหรอก พี่พิง ลำพระเพลิง หรือน้าเน็ก หรือใครก็ตามที่ทำ stand-up comedy ต้องมีคนเปรียบเทียบกับพี่โน้สอยู่แล้วล่ะ เพราะเขาเป็นเบอร์หนึ่งในวงการนี้จริงๆ มันเลี่ยงไม่ได้หรอก แต่ก็อยากให้ติดตามคนรุ่นใหม่ในวงการนี้นะครับ ผมว่ากระแสกำลังมาเลยล่ะ อาจจะตามหลังวงการแร็ปอยู่ แต่ผมว่ามาแน่

แล้วเคยคิดไหมว่า copy กับ inspiration ต่างกันยังไง?

ผมว่า inspiration มันคือการเอาของตัวเองไปผนวกรวมกับของคนอื่นที่เราชอบ อาจจะก๊อปจากหลายๆที่หน่อย เพื่อทำสิ่งๆเดียว แต่ copy แม่งคือก๊อปแค่อันนั้นอันเดียวมาเป็นอีกอันที่เหมือนเด๊ะไปเลย ไม่มีความเป็นตัวเราเลย ซึ่งสำหรับผม copy ให้เหมือนยังไงก็ไม่มีทางเหมือน 100% หรอก

ปัจจุบัน ได้เป็นพิธีการรายการ “พื้นที่ชีวิต” ด้วย ช่วยเล่าที่มาที่ไปหน่อย

ย้อนกลับไปช่วงที่ผมประกวดพิธีกรเยอะๆ มันมีงานหนึ่งคือประกวดพิธีกรรายการสารคดี แล้วผมติดเฉย คือผมเพิ่งรู้ว่าตัวเองไม่ถนัด test หน้ากล้องแบบพูดตามสคริปต์ แต่ชอบการพูดออกมาจากตัวเองมากกว่า แล้วไอ้ประกวดพิธีกรสารคดีครั้งนี้เนี่ย เขามานั่งสัมภาษณ์ แล้วก็ให้เราตอบออกไปสดๆ ไม่ต้องใช้สคริปต์อะไรเลย ซึ่งสองคนในทีมที่มาสัมภาษณ์ ผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าพวกเขาเป็นโปรดิวเซอร์รายการพื้นที่ชีวิต แล้วจากการประกวดครั้งนั้น เขาก็เรียกผมไปไปถ่ายรายการหนึ่ง แต่ด้วยเหตุบางประการทำให้ไม่ได้ออกอากาศ (หัวเราะ)

สามปีผ่านไป พี่ที่เคยสัมภาษณ์ผมก็มาชวนไปเข้าวัด ไปถ่ายรายการพื้นที่ชีวิตกัน โดยจะมีผู้ดำเนินรายการสี่คน ก็คือพี่เอ๋ นิ้วกลม เป็นนักเขียน, ข้าว (จุฑารัตน์ แก้วมณี) The Face Thailand เป็นนางแบบ, พี่นารา (ดร.นรมน อินทรานนท์) เป็นนักวิทยาศาสตร์ และผมที่เป็นนักพูด แล้วจะให้ทั้งสี่คนสี่สายอาชีพเนี่ยมาเล่าให้ฟังว่าแต่ละคนได้อะไรจากการเข้าวัดปฏิบัติธรรมครั้งนี้ ซึ่งผมก็ไปถ่าย ตอนเดียวจบ หลังจากนั้นพี่จาก Thai PBS ก็ชวนให้มาลองเป็นพิธีกรในซีซั่นหน้า นั่นคือจุดเริ่มต้นการเป็นพิธีกรพื้นที่ชีวิตจนถึงวันนี้ครับ

นักพูด นักเขียน พิธีกร มีความแตกต่างกันอย่างไรในมุมมองของบีเบนซ์?

ผมว่านักพูดกับนักเขียนคล้ายกัน เพราะเรื่องมันมาจากตัวของเรา อาวุธของนักพูดและนักเขียนเหมือนกัน คือเรื่องราว แค่กระบวนการจัดการต่างกัน แต่พิธีกรคือคนที่คอยจัดการสถานการณ์นั้นๆให้ผ่านพ้นไปด้วยดีที่สุด

ผมว่าพิธีกรมันต้องมีทักษะการจัดการมากกว่าการเล่าเรื่องนะ พิธีกรมีเรื่องเล่าไว้ใช้แก้ไขสถานการณ์มากกว่าเอามาแสดงตรงๆอย่างนักพูดหรือนักเขียน

มีมุมมองอย่างไรต่อวงการนักพูดในอนาคตข้างหน้า?

ผมมองว่าคนที่เขาทำได้จะออกมาทำกันมากขึ้น เหมือนวงการแร็ปอ่ะครับ เมื่อก่อนแร็ปเปอร์ก็มีพื้นที่แสดงแค่กลุ่มเล็กๆเท่านั้น แต่พอมี Rap Is Now มี The Rapper ขึ้นมา พื้นที่ของพวกเขาก็เปิดกว้างขึ้น เช่นกันกับวงการนักพูด ที่ผมเชื่อว่าต่อไปจะมีพื้นที่แสดงมากขึ้น และผมเองก็พูดคุยกับคนมาเยอะ บางคนนี่ผมรู้เลยว่ามึงทำ stand-up comedy ได้นะ คิดว่าคนที่มีทักษะยังถูกเก็บไว้อีกเยอะ ก็หวังว่าอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมีเวทีให้พวกเขาได้แสดงกันมากขึ้นครับ

คำ-ถาม-นอก-รอบ

คิดอย่างไรกับการเมืองไทยวันนี้?

ต้องบอกว่าเมื่อก่อนผมเป็นคนไม่ตามการเมืองเลย จนกระทั่งไม่นานมานี้ที่ผมได้ทำรายการพื้นที่ชีวิตเกี่ยวกับประชาธิปไตยในซีซั่นนี้ มันทำให้ผมเริ่มศึกษาและติดตามการเมือง ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมเริ่มช้ากว่าคนอื่น ซึ่งเมื่อเริ่มศึกษา ผมแม่งเริ่มอินว่ะ รู้สึกว่าคนทำงานการเมืองแม่งต้องแข็งแกร่งแค่ไหนวะ เราในอยู่ในยุคที่ social media แม่งโคตรมีพลัง คนที่ทำงานไม่ดีแม่งต้องได้รับผลกรรมแน่นอน อย่างน้อยก็โดนสังคมโซเชียลลงโทษละ ผลกรรมคือความไม่สบายใจละ ไปไหนมาไหนก็ต้องระแวงว่าคนนี้เขาด่าเราไหม เขาจะทำอะไรเราหรือเปล่า แต่ถ้าการทำงานมันดีจริง โลกโซเชียลก็พร้อมจะอวยหรือชื่นชมคุณแน่นอน

ความเห็นต่อการเมืองของตอนนี้ ผมว่าคุณอ่านคอมเมนต์ของคนอื่นๆดูก็น่าจะรู้แล้ว การเมืองตอนนี้ถูกสังคมตั้งคำถาม ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามเหมือนกัน มันเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะต้องตั้งคำถามอยู่แล้ว ถ้าการทำงานมันมีปัญหา

สมมติ มีคนมาชวนให้ไปทำ stand up comedy เกี่ยวกับการเมือง จะไปไหม?

ไป (ตอบทันที)

แล้วจะพูดเรื่องอะไร?

โห เยอะเลย แต่ผมว่ามันสื่อสารลำบาก

แล้วคิดว่ามันจะเป็นไปได้ไหม?

เป็นไปได้นะ คือผมคิดว่าวงการแร็ปเนี่ย เขาใช้ภาษาแบบด่ากันตรงๆ ใช้คำหยาบกันตรงๆ เขายังทำได้เลย ฉะนั้น ของเราเป็นแค่เสียดสีล้อเลียนอ้อมๆ ให้เป็นเรื่องตลกขบขันเท่านั้นเอง มัน soft กว่าเยอะ ก็เลยคิดว่าน่าจะทำได้ แต่คุณต้องมีศิลปะในการเขียนบทจริงๆด้วยนะ เพื่อการเล่าครั้งนั้นได้ผล พร้อมให้คนรู้สึกตลกรู้สึกขำไปกับมัน และรอดพ้นไปได้

มีความเห็นอย่างไรกับกระแสการเมืองตอนนี้ ที่มีเรื่องของ ‘คนรุ่นเก่า vs คนรุ่นใหม่’ ?

เป็นธรรมดาครับ เพราะคนรุ่นเก่าก็ต้องเคยถูกคนรุ่นเก่ากว่าตั้งคำถามเหมือนกัน ต้องเคยโดนพูดว่า “เด็กสมัยนี้” เหมือนกัน ผมเคยตั้งคำถามเหมือนกันนะ ว่าทำไมแม่กับลูกถึงต้องทะเลาะกัน จะเป็นไปได้ไหมที่แม่กับลูกจะมีความคิดตรงกันทุกอย่าง ฉะนั้น ความขัดแย้งระหว่าง gen มันเป็นการวน loop อยู่ที่เราจะปรับตัวให้เข้ากันได้ยังไงมากกว่า

พูดถึงความรักกันบ้าง ความรักในมุมมองของบีเบนซ์ เป็นอย่างไร?

ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนช้ากว่าคนอื่นไปก้าวนึงเสมอ ในทุกๆเรื่องเลย เป็นสิ่งที่ผมเพิ่งรู้สึกไม่นานมานี้เอง

เรื่องความรักของผมก็เริ่มต้นช้ามาก สมัยเรียนนี่เพื่อนๆเขาก็มีแฟนกัน แต่ผมยังไม่มี ทั้งที่เป็นคนชอบคนง่ายมาก เพราะตอนนั้นผมคิดว่าการมีแฟนมันจะทำให้เราไม่สามารถไปชอบคนนั้นคนนี้ได้ จะต้องอยู่กับคนนี้คนเดียว ผมจึงมีแฟนไม่ได้เพราะยังชอบคนเยอะๆอยู่ ชอบแอบมองอยู่ห่างๆ มีคนน่ารักๆไว้ชุ่มชื้นในใจ อะไรอย่างนี้

แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปจากสมัยเรียนมาก ผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าเรารู้จักคนๆหนึ่ง เราจะอยากรู้จักเขาในทุกๆวัน ผมจะถามคำถามเขาในแบบที่ไม่เคยมีใครถามมาก่อน ผมอยากจะรู้จักเขาในมุมใหม่ๆเสมอ อยากรู้จักในเชิงลึก พูดง่ายๆคือความรักในแบบของผม จะเป็นความรักเชิงลึก เป็นความสัมพันธ์แนวดิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ มากกว่าแนวนอนที่จะขยายไปด้านข้าง

แล้วผู้หญิงแบบไหนที่จะ ‘ตก’ เบนซ์ ได้?

คนที่จะหัวเราะไปกับมุขตลกของผมได้ (หัวเราะ) ล้อเล่นๆ ผมจะชอบคนที่มีความคิดละเอียดอ่อน มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมักจะมองข้ามไป ชอบคนที่มีมุมมองต่างไปจากผม จะทะเลาะกันก็ได้ แต่ด้วยเหตุและผลมันต้องใช่ ซึ่งถ้าเหตุผลของเขามันใช่ ผมก็จะยอมนะ แบบ “เออ ทำไมเราคิดไม่ได้เหมือนเขาวะ”

เห็นผมตลกๆบนเวที แต่ชีวิตจริงเป็นคนซีเรียสนะ ผมไม่ชอบคนที่จะมาตลกไปวันๆกับเรา ชอบที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆอย่างจริงจังมากกว่า

ถ้าสมมติบีเบนซ์เป็นพ่อ จะเลี้ยงลูกยังไง?

อืม....(คิดนาน)….ผมไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลยนะ แต่คิดว่าถ้ามีลูก ผมจะเลี้ยงลูกแบบให้ทางเลือก เช่น ถ้าลูกหกล้ม ให้ลูกเลือกเอาว่าจะลุกหรือจะร้องไห้ ถ้าจะร้องไห้ ต้องให้พ่อไปปลอบไหม? อะไรอย่างนี้

ผมรู้สึกว่าถ้าลูกได้เลือกเอง เขาจะตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ เช่น สมมติให้ลูกเลือกว่า จะไปเติมน้ำหรือจะไปล้างจาน ถ้าลูกเลือกไปล้างจาน เขาจะตั้งใจล้างจานอย่างดีที่สุด เพราะเขาเลือกเอง แต่ถ้าเราไปบังคับว่าให้ไปล้างจานเดี๋ยวนี้ ลูกก็จะล้างแบบขอไปที เพราะมันถูกบังคับอ่ะ

และผมคิดว่ามันจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกในอนาคตด้วยนะ เวลาลูกเลือกที่จะทำอะไร เขาจะมั่นใจและทำมันให้ดีที่สุด ฉะนั้น ผมจะเลี้ยงลูกแบบให้ทางเลือกแก่ลูก แต่ก็อยู่ในความดูแลของเราอีกที

เรื่องแบบไหนที่ไม่ตลกสำหรับบีเบนซ์?

เรื่องแบบไหนเหรอ....เออ ขอคิดก่อนนะ (หัวเราะ)

น่าจะเป็นเรื่องที่เจอตอนนั้นน่ะแหละ ที่ไม่ตลก แต่มันจะตลกได้หลังจากเวลาผ่านไป สมมติเราโดนเพื่อนแกล้งว่าให้กินเนื้อหมู แต่จริงๆแล้วเป็นเนื้อหมา ตอนนั้นเราจะโกรธมากเลยนะ แต่เวลาผ่านไปเราจะแบบ....ไอ้เหี้ย กูเคยกินเนื้อหมาว่ะ (หัวเราะ)

ซึ่งเอาจริงๆแล้ว ทุกเรื่องที่ผมพูดเนี่ย ตอนเจอนี่ไม่ตลกเลยนะ แต่เวลาผ่านไป เราก็มาคิดๆดู....เออ ก็เอามาเล่าให้มันตลกได้นะ

เรื่องที่เศร้าที่สุดในชีวิตล่ะ?

ผมจะมีเรื่องเศร้าเยอะ เห็นอย่างนี้ผมเป็นคนอ่อนไหวง่ายนะ แต่ผมจะเยียวยาตัวเองได้ไว สมมติ ถ้าคนอื่นเลิกกับแฟน เขาอาจจะเศร้าไป 3 เดือน แต่อาจจะเศร้าแบบระดับสองหรือสาม ของผมนี่จะเศร้าแค่อาทิตย์เดียว แต่จะเศร้าระดับสิบ แล้วจะ go on ต่อได้เลย แต่ถ้าถามว่าเศร้าที่สุดสำหรับผม คงจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคนในค่าย เหมือนกับเราจะได้เจอเพื่อนกลุ่มนี้เป็นครั้งสุดท้ายอ่ะ จบค่ายไปไม่รู้จะได้เจอกันพร้อมหน้าแบบนี้ได้อีกเมื่อไร

อีกเรื่องที่ผมร้องไห้บ่อยๆในสมัยเรียนก็คือเพื่อน แบบวันสุดท้ายที่ได้เจอกัน ได้พูดคุยกัน แล้วจะไม่ได้เจอกันอีกเลย โอกาสจะยากมาก ผมจะเศร้ามากกับเรื่องความสัมพันธ์ของคน การได้เจอกันแล้วจะไม่ได้เจอกันอีก อะไรแบบนี้ครับ

ขณะที่เบนซ์กำลังทำงานอิสระ คิดว่า ความอิสระ กับ ความมั่นคง มันสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร?

ผมว่ามันสอดคล้องกันนะ ถ้าคุณจะทำงานอิสระ คุณควรจะมีจิตใจที่มั่นคง ถ้าคุณทำงานที่มั่นคง คุณก็ควรมีจิตใจที่อิสระ

ผมสังเกตนะ ว่าคนที่ทำงานอิสระหลายคนที่ประสบความสำเร็จ เขาจะเป็นคนที่มีวินัย และจัดการรายละเอียดในชีวิตตัวเองได้ดีมากๆ เช่น พี่เอ๋ นิ้วกลม เขาทำงานอิสระ แต่เขาเขียนหนังสือทุกวัน ไม่มีงานหนังสือครั้งไหนที่ไม่มีหนังสือเล่มใหม่ของนิ้วกลม หรือพี่โน้ส อุดม ที่ผมเคยไปเจอเขามา เขาทำงานอิสระ ในขณะที่เขาต้องบริหารจัดการลูกน้องทุกคน อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่แบบทำงานได้เงินมาแล้วใช้หมดจนทำต่อไม่ได้

ส่วนคนที่ทำงานมั่นคง ถ้าเขาอยากทำอะไรเป็นของตัวเอง ก็ต้องทำลายกรอบความมั่นคงไปบ้าง ค้นหาว่าตัวเองทำอะไรได้ จัดสรรเวลาดีๆ แล้วในอนาคตสิ่งที่เขาทำลายกรอบออกมาอาจเป็นอีกหนึ่งความมั่นคงที่เพิ่มเข้ามาก็ได้

ผมว่าเรื่องนี้มันเป็น หยิน-หยาง น่ะ มันต้องสมดุลกัน

ฝากอะไรถึงคนที่อยากเป็นอย่าง บีเบนซ์ หน่อย

อยากเป็นเหมือนผมเหรอ....คิดว่าเขาคงไม่ได้อยากเป็นแบบผมเพราะฟังผมเสียทีเดียวหรอก เขาน่าจะมีจุดประกายบางอย่างของตัวเองมาอยู่แล้ว แล้วมาฟังผมเพื่อเป็นแรงผลักดันเสริมมากกว่า แต่ก็อยากจะบอกว่า ผมเป็นคนที่ focus กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จะไม่ค่อยมองอนาคต ถ้ามีคนถามว่าในอนาคตเห็นตัวเองไปถึงจุดไหน ผมตอบไม่ได้เลย ตอบได้แค่ว่าตอนนี้มีอะไรต้องทำบ้าง มีอะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง แล้วก็ทำไปเถอะ ตั้งใจทำตรงหน้าให้ดีที่สุด แล้วเราจะเรียนรู้เพิ่มเติมจากความตั้งใจนั้นได้เอง และผมว่าคนตั้งใจทำงานอยู่ตรงไหนก็เจริญครับ

คำถามสุดท้าย....รู้สึกอย่างไรกับการสัมภาษณ์ครั้งนี้?

รู้สึกว่าตัวเองพูดเยอะฉิบหายเลย (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่ามันเหมือนคุยกันธรรมดามากกว่า ไม่คิดว่าเป็นการสัมภาษณ์เท่าไร ซึ่งผมก็ไหลไปเรื่อยเลย (หัวเราะ)

แต่ก็ดีนะครับ มันทำให้ทบทวนเรื่องที่ผ่านมาของตัวเอง บางเรื่องไม่เคยเล่าให้ใครฟังด้วยซ้ำ แล้วก็เป็นคำถามที่ทำให้ผมนึกอะไรใหม่ๆได้เยอะดีครับ

story : สินิทธ์ ปนุตติกร

photograph : ปรียานุช สุกิน

Comentários


บทความที่น่าสนใจ

กลุ่มนัก(อยาก)เขียนห้าคน ที่ตกลงกันว่าจะเขียนอย่างน้อยคนละ 5 หน้า

contact us

unnamed.png
580b57fcd9996e24bc43c521.png
logo-gmail-9952.png

f i v e p a g e s a t l e a s t @ g m a i l . c o m

© 2023 by Noah Matthews Proudly created with Wix.com

bottom of page