top of page
Featured Posts

Gunpla บำบัด!?

  • สินิทธ์ ปนุตติกร
  • Aug 4, 2019
  • 1 min read

ถ้าจะบอกว่า ตอนนี้เรากำลังใช้ Gunpla เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคซึมเศร้าของตัวเอง คุณจะเชื่อไหม....??

....

เรามีประสบการณ์ชีวิตที่ไม่ค่อยดีเท่าไร สมัยเด็กไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ ไปโรงเรียนก็โดน bully ไม่ค่อยมีเพื่อนคบ เข้ามหาลัยก็ยังโดดเดี่ยว พอทำงานก็รู้สึกแปลกแยก เข้ากับคนอื่นไม่ค่อยได้ อันเนื่องมาจากรสนิยมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร ทั้งเพลงที่ฟัง หนังสือที่อ่าน อาหารที่ชอบ แม้แต่งานอดิเรกก็ยังดูไม่สมวัย....อย่างเช่น การเล่นของเล่น เป็นต้น

ประสบการณ์ทั้งหมดถูกสะสมเรื่อยมา จนเข้าสู่สภาวะซึมเศร้าในปัจจุบัน โดยยังคงกินยาและไปพบจิตแพทย์อยู่เป็นระยะ แต่แค่นี้ก็ไม่สามารถหายขาดได้ หากตัวเองไม่พยายามทำตัวเองให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปกติของโรคนี้

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้า คือการสูญเสีย self esteem (ความภูมิใจในตัวตน) อย่างหนัก หรือพูดง่ายๆก็คือ การที่เราไม่มีความรู้สึกภูมิใจในตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง อันเป็นพื้นฐานของการไม่อยากมีชีวิตอยู่

วิธีการก็ง่ายๆ ในทางทฤษฎีก็คือการสร้าง self esteem ให้กับผู้ป่วย แต่ในทางปฏิบัติหมายถึงผู้ป่วยต้องสร้าง self esteem ด้วยตนเอง ซึ่งตรงนี้แหละที่แพทย์หรือยาไม่สามารถช่วยเหลือได้ ต้องแยกเคสเป็นรายบุคคลไป เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์เสีย self ไม่เหมือนกัน วิธีการสร้างจึงต่างกันไปด้วย

ส่วนตัวเรา นอกจากเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นที่ทำให้ self เสียแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่กระทบจิตใจเรามากๆ ก็คือการที่เราค้นพบว่าชอบทำอะไร มีความสามารถด้านไหน มีเส้นทางฝันอย่างไร แต่ไม่เคยมีใครสนับสนุน บางคนยังมองว่าเสียเวลาและไร้สาระอีกด้วย....ก็ไม่แปลกที่เราจะซึมเศร้า

เหตุนี้ เราจึงต้องค้นหาหนทางสร้าง self ให้กับตัวเอง พยายามเรื่อยมา จนกระทั่งได้พบกับสิ่งหนึ่งที่แม้แต่แพทย์เองก็ยอมรับว่าเพิ่งเคยเจอเป็นเคสแรก

สิ่งนั้นก็คือ Gundam Plastic Model หรือเรียกสั้นๆว่า “GUNPLA” นั่นเอง

....

ต้องเท้าความก่อนว่าเรามีปมกับ Gunpla มานาน

ตอนเด็กไม่เคยมีผู้ใหญ่ซื้อให้ โตเป็นผู้ใหญ่ก็ติดนิสัยชอบแวะไปโซนขายของเล่น เพื่อมาชื่นชมกล่อง Gunpla ที่เรียงราย

ทีแรกก็ยังไม่คิดซื้อ เพราะยังคิดว่าเป็นสิ่งสิ้นเปลืองอยู่ เมื่อเทียบกับรายได้และรายจ่ายในชีวิตประจำวัน

จนอายุล่วงเลยมาถึงหลัก 3 จึงตัดสินใจใช้เงินเล็กๆน้อยๆที่เก็บมานาน ซื้อ Gunpla ตัวแรกในชีวิต ในราคาประมาณ 400-500 บาท หวังแค่สนองความต้องการในวัยเด็ก จะได้หายคาใจเสียที

ตอนซื้อมาใหม่ๆ ยังไม่กล้าประกอบด้วยนะ ยังพอใจที่จะชื่นชมชิ้นส่วนต่างๆบนแผงหลากสี รอฤกษ์งามยามดีก่อน ค่อยแกะออกมาเล่น

พอประกอบเสร็จปุ๊บ....ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นเหมือนกันไหม เพราะเมื่อมีตัวแรกแล้ว ตัวที่ 2-3 ก็ตามมา

จากชอบ เลยเถิดไปเป็นความหลงใหล จนปัจจุบันมีมากกว่า 10 ตัวเข้าไปแล้ว!?

เราชอบที่มันราคาถูกเมื่อเทียบกับฟิกเกอร์อื่นๆที่สามารถขยับเปลี่ยนท่าทางได้ สีก็สวยกว่าของเล่นหลายๆไลน์

ที่สำคัญ คือการได้ประกอบให้เป็นรูปเป็นร่างเองกับมือ มันทำให้เรามีความภูมิใจเล็กๆเมื่อประกอบเสร็จ และด้วยการออกแบบโครงสร้างและชิ้นส่วนมาอย่างดี มันทำให้คนที่ห่วยแตกด้านงานฝีมืออย่างเรารู้สึกดี ที่สามารถประกอบออกมาได้อย่างแนบเนียนราวกับมืออาชีพ

และเราก็เริ่มสังเกตตัวเอง ว่าทุกครั้งที่นั่งประกอบ Gunpla มันเหมือนช่วงเวลาต้องมนต์ สะกดให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งๆหนึ่ง มีสมาธิกับมันอย่างเต็มที่ โดยไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือท้อถอยเลย กลับกันเราอยากทำมันให้สำเร็จ ไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม เมื่อยล้าก็พักบ้าง แรงมาก็ทำต่อ เป็นความตั้งมั่นที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับเราเท่าไร เพราะตลอดมาที่ซึมเศร้า เราจะรู้สึกไม่อยากทำสิ่งใด ไม่มีแรงบันดาลใจกับอะไรสักอย่าง แต่ Gunpla กลับสอดแทรกความรู้สึกนี้เข้ามาได้ เราว่ามันไม่ธรรมดาแล้วล่ะ เลยเอาเรื่องนี้ไปคุยกับจิตแพทย์ประจำตัว

หมอบอกว่ากรณีนี้ สามารถอธิบายได้ตามหลัก ‘การสร้างความสุขของจิตวิทยาเชิงบวก’ ของ Dr. Martin Seligman โดยมี 3 ขั้น คือ ชีวิตที่มีวามสุข ชีวิตที่ดี และชีวิตที่มีความหมาย ตามลำดับ

น่าสนใจว่า Gunpla สามารถนำพาเราไปยังความสุขขั้นที่ 2 ได้เลยทีเดียว ซึ่งพบหาไม่ง่ายในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่จะสามารถข้ามขั้นตอนหลักการสร้างความสุขดังกล่าวได้ในระยะสั้น

* ขั้นแรก ชีวิตที่มีความสุข (the pleasant life) คือความสุขแบบผิวเผิน ไม่ยั่งยืน เช่น การได้ทานอาหารอร่อย การได้ดูหนังฟังเพลงที่เราชอบ การได้ครอบครองสิ่งที่เราต้องการ ฯลฯ ถ้าเปรียบเทียบกับเรา คงเป็นความสุขตอนที่ซื้อ Gunpla มานั่งเชยชมช่วงแรกๆนั่นแหละ

* ขั้นที่ 2 ชีวิตที่ดี (the good life) หมายถึงการได้ทำอะไรแบบจดจ่อโดยที่ไม่เบื่อ ทำด้วยความรู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็ว เหมือนโลกหยุดหมุนไปช่วงระยะหนึ่ง หรือเรียกว่า flow ซึ่งตรงกับที่เราอธิบายไปข้างต้น ว่าเรามีสมาธิจดจ่อกับการต่อ Gunpla ด้วยความเพลิดเพลินขนาดไหน และรู้สึกภูมิใจทุกครั้งเมื่อประกอบเสร็จ

* ส่วนขั้นที่ 3 ชีวิตที่มีความหมาย (the meaningful life) อธิบายง่ายๆ เหมือนการ flow ในขั้นที่ 2 นั้นได้ส่งต่อความสุขแก่ผู้อื่นด้วย ซึ่งน่าเสียดายที่การต่อ Gunpla ของเรานั้นไม่ได้สร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นเลย แต่หมอบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องนั้น แค่มันทำให้เรามีอาการที่ดีขึ้นก็ถือว่าดีมากแล้ว เพราะผู้ป่วยหลายคนยังไม่สามารถค้นหาสิ่งที่จะทำให้เขาเกิดภาวะ flow ได้เลย

เราเองก็ไม่อยากเชื่อเหมือนกัน ว่า flow ของเราจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายขนาดนี้

หลังคุยกันจบ หมอแนะนำให้เราลองเล่น Gunpla ต่อ และติดตามดูอาการกันต่อไป ว่า flow นี้จะพาเราห่างจากความเศร้าได้ไกลแค่ไหน

ซึ่งขณะที่พิมพ์อยู่นี้ หมอสั่งงดยาให้เราแล้ว

....

ก็เป็นอีกเรื่องที่เราได้พิสูจน์กับตัวเอง และอยากส่งต่อประสบการณ์ ว่าของเล่นที่ดูไร้สาระสำหรับใครหลายคน แท้จริงแล้วยังมีคุณค่าในมุมที่คาดไม่ถึงอยู่

เราเชื่อว่าสิ่งที่ดูไร้ค่า หากอยู่ในบริบทที่ใช่ มันมีประโยชน์ได้เหมือนกัน กลับกันกับสิ่งที่ดูมีสาระ หากอยู่ในบริบทที่ไม่ใช่ มันก็ไร้ค่าได้ทั้งนั้น

Gunpla ไม่ได้มีดีแค่เล่นเอาสนุกเท่านั้น เราเห็นมันช่วยสร้างจินตนาการ และสร้างอาชีพให้กับใครหลายคน ที่สำคัญ คือช่วยให้เราดีขึ้นจากอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย

และเชื่อว่ามันคงมีประโยชน์อื่นๆอีกที่เรายังไม่รู้ ก็น่าสนใจเหมือนกันว่าแต่ละคนมีประสบการณ์ความประทับใจกับ Gunpla หรือของเล่นอื่นๆอย่างไรบ้าง

ถ้าทุกคนลองเขียนเรื่องราวของตัวเองออกมา แล้วลองย้อนกลับไปอ่านดู คงจะสนุกพอๆกับการได้เล่นของเล่นไม่น้อย....

* ข้อมูลจากเว็บ GotoKnow.org เขียนโดย Advanze (https://www.gotoknow.org/posts/423425)

Comments


บทความที่น่าสนใจ

กลุ่มนัก(อยาก)เขียนห้าคน ที่ตกลงกันว่าจะเขียนอย่างน้อยคนละ 5 หน้า

contact us

unnamed.png
580b57fcd9996e24bc43c521.png
logo-gmail-9952.png

f i v e p a g e s a t l e a s t @ g m a i l . c o m

© 2023 by Noah Matthews Proudly created with Wix.com

bottom of page