[SPOIL & REVIEW] Where We Belong : ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า?....แล้วเธอล่ะ สำคัญแค่ไหน??
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Jun 25, 2019
- 2 min read

“เราต่างเดินเข้าหา และผลักไสซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา....”
....
ต้องบอกก่อน ว่าเราไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้บนความคาดหวังของชื่อ คงเดช จาตุรันต์รัศมี มากว่า BNK48 เพราะติดใจโทนหนังแบบ แต่เพียงผู้เดียว (2555) หรือนานหน่อยก็เรื่อง สยิว (2546)
อ้อ เป็นแฟนเพลง สี่เต่าเธอ ด้วย ซึ่งมารู้ภายหลังว่านักร้องนำก็คือ พี่คงเดช นั่นเอง
ดังนั้น เราจึงเตรียมตัวมาเพื่อเสพหนังแบบ ‘พี่คงเดช’ โดยเฉพาะ ที่ใครอาจเรียกมันว่า “อินดี้” ที่มีจังหวะการเล่าหน่วงๆ โทนเรียบๆ ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึ่งเราจะบอกว่าบางทีหนังหรือภาพยนตร์ไม่ได้มีไว้เพื่อความบันเทิงเสมอไป แต่มีไว้เพื่อเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง และคำว่า “ศิลปะ” นี่เองที่บางทีก็ไม่ต้องดูเพื่อเข้าใจความหมายของมันก็ได้ แต่ดูเพื่อรับรสชาติ และรับสารที่ผู้สร้างงานจะสื่อ ก็พอแล้ว
เชื่อว่าแต่ละคงมีวิธีดูหนังที่เน้นศิลปะแตกต่างกันออกไป ส่วนตัวเราเองนั้นมีวิธีดูอยู่ 3 ส่วน คือ ดูภาพว่าเขาต้องการให้เห็นอะไร ดูพฤติกรรมของตัวละครว่าต้องการจะสื่ออะไร และฟังบทสนทนาว่าเขาพูดอะไรบ้าง ฉะนั้น เราจะขอรีวิวเรื่องนี้เป็นฉากๆไป เท่าที่สำรวจได้จากการดูรอบเดียวละกัน
….
- เนื้อเรื่องโดยรวม เกี่ยวกับชีวิตวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวเองหลังพ้นรั้วโรงเรียน ทางเลือกของแต่ละคนในการเข้ามหาวิทยาลัยมีความหลากหลาย ซึ่ง ซู ตัวละครหลักเลือกที่จะไปเรียนต่อเมืองนอก ทั้งที่ตัวเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายของการไปครั้งนี้คืออะไร รู้เพียงแต่ว่าไม่อยากอยู่ที่นี่กับรูปแบบชีวิตเดิมๆ และหวังว่าขอแค่ไปให้พ้นจากตรงนี้ก่อน เป้าหมายน่าจะปรากฏชัดมากขึ้น
- “บอกให้เป็นตัวของตัวเอง แต่อย่าพูดทุกสิ่งที่คิด” เป็นเหมือนประโยคเปิดของหนังเรื่องนี้ ว่าจากนี้ไปเนื้อเรื่องก็จะประมาณนี้แหละ จะมีความอึดอัด กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ในหลายสถานการณ์ ซึ่งความสับสนลักษณะนี้ก็เป็นปัญหาโลกแตกของวัยนี้จริงๆนั่นแหละ
- ซู กับ เบล ช่วยกันทำ list สำหรับเตรียมตัวก่อนไปเมืองนอก ในจำนวนนั้นมีรายการสะสางเรื่องค้างคากับคนรอบข้างอยู่ด้วย เหล่านี้เองแสดงให้เห็นว่า บางปัญหาแก้ไขได้ บางปัญหาก็แก้ไม่ได้ บางคนพร้อมจะปรับความเข้าใจ แต่กับบางคนกลับไม่พยายามแม้แต่จะรับฟัง และยินดีที่จะปล่อยให้เรื่องมันค้างคาต่อไป ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ หรือจะเรียกว่าเป็น ‘สัจธรรม’ ของมนุษย์เลยก็ว่าได้
- ฉากที่ ซู คุยกับ เก่ง เป็นการสนทนาของคนที่มีเป้าหมายชัดเจน กับคนที่ยังล่องลอยและว่างเปล่า เพราะในขณะที่ ซู กำลังจะไปให้พ้นจากที่นี่อย่างไร้จุดหมาย เก่ง กลับบอกว่า “ที่นี่มันพอดีสำหรับเราแล้ว” และได้เรียนประมงอย่างที่ตั้งใจไว้ น่าสนใจว่าแม้จะเป็นโลกใบเดียวกัน เติบโตมาด้วยกัน มันกลับพอดีสำหรับคนหนึ่ง และไม่พอดีสำหรับอีกคนหนึ่ง
- ฉากที่ครูสอนภาษาอังกฤษ (ชาวเยอรมัน) ของ ซู บอกว่า “จะไม่กลับไปที่บ้านอีกแล้ว” ยิ่งตอกย้ำประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี
- ฉากที่ เบล ได้ใช้เวลากับ แม่ แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่มีค่าสำหรับบางคน อาจไร้ค่าสำหรับอีกคนในสิ่งเดียวกัน ชวนให้นึกถึงค่านิยมของบางครอบครัว ที่พ่อแม่ชอบยัดเยียดสิ่งดีงามสำหรับตัวเองแก่ลูก (มันมีจริงๆนะครับ บ้านเราเองก็เป็น)
- ในฐานะที่เป็นนักดนตรีคนหนึ่ง จะบอกว่าฉากที่วงดนตรีกลับมาเล่นด้วยกัน แล้วทะเลาะกันนั้นโคตรโดน สมัยที่เรายังเล่นดนตรีกลางคืน การเปลี่ยนวงหรือเปลี่ยนสมาชิกวงเป็นเรื่องที่ปกติมาก และมันจะต้องมีคนที่จริงจังมากๆกับคนที่ชิลมากๆมาอยู่ด้วยกันเสมอ ซึ่งบอกตรงๆว่าร่วมงานกันลำบากมากเลยนะ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงคือคำตอบที่ดีที่สุด (ปัจจุบัน เราจึงทำเพลงเองคนเดียวเลย ขี้เกียจมีปัญหา 5555)
- ตอนที่ ซู ทะเลาะกับ เบล ในร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นอีกหนึ่งซีนโปรดของเราเลย เราว่าวัยรุ่นหลายคนคงอยากพูดความคิดของตัวเองออกมาให้ผู้ใหญ่ได้ฟังตรงๆแบบนี้บ้าง เราได้เห็นการเถียงกันระหว่าง conservative กับ liberalism ที่ชัดเจนมาก สะท้อนปัญหา ‘คนรุ่นเก่า vs. คนรุ่นใหม่’ ที่กำลังเป็นกระแสในขณะนี้พอดี ซีนนี้ ชื่นชมทุก dialogue และ acting ของนักแสดงทุกคนเลยครับ
- ฉากที่ ซู กับ พ่อ ทะเลาะกันในตลาด ยิ่งสะท้อนประเด็นนี้ได้ชัดเจนขึ้น และยังได้เห็นประเด็น ‘อำนาจนิยม’ ของผู้ใหญ่ ที่จะต้องควบคุมผู้น้อยอย่างเบ็ดเสร็จให้ได้ เมื่อไรที่ผู้น้อยเริ่มคุมไม่อยู่ ก็พร้อมจะใช้กำลังเสมอ ขณะที่ ซู เอง ก็เป็นตัวแทนของผู้น้อยในยุคนี้ที่ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจหรือการใช้กำลังของผู้ใหญ่เลย ยอมเจ็บตัวดีกว่าต้องตกอยู่ในอาณัติของใครอย่างไร้อิสระ (ก็มาดิค้าบบบบบ!?)
- ตอนที่ พ่อซู พา ซู กับ ซัน มาหาแม่ที่เป็นร่างทรง อยากให้สำรวจ dialogue นี้ดีๆ ที่ว่า “ถ้าตรงนี้มันไม่ดี อยากจะไป แม่ไม่ว่า แต่เราสามารถทำตรงนี้ให้ดีกว่าเดิมได้” เราอยากให้กลับไปคิดเอาเอง ว่าคิดเห็นอย่างไรในประโยคนี้ เพราะตอนหลังที่ ลุงผู้ร่างทรง มาบอกว่า “กูโกหก แม่งไม่เวิร์คหรอก” เราว่ามันอาจหมายถึงในมุมของลุงคนเดียว ซึ่งมันอาจ ‘เวิร์ค’ สำหรับคนอื่นก็เป็นได้
- และเหมือนเป็นการเฉลยว่าลุงหลอกลวงจริงๆ เพราะถ้ามีดวงจิตมาประทับร่างจริง ผู้ร่างทรงจะมีความทรงจำของดวงจิตนั้นหลงเหลืออยู่ หลังออกจากร่างไปแล้วได้ด้วยหรือ??
- หรือว่ามันจะเป็นการจัดฉากของ พ่อซู กันนะ เพราะข้อมูลลุงเป๊ะมาก ขนาด ซู ที่เคยคิดว่างมงาย ยังหลงเชื่อเสียสนิทใจ ว่ากำลังคุยกับแม่อยู่จริงๆ
- ตอนที่ ซู ร้องไห้บนเครื่องเล่น คือซีนที่เราชอบที่สุดของหนังเรื่องนี้ เป็นซีนอารมณ์ที่เหนือความคาดหมายมาก คิดได้ไง? แล้วภาพกับเสียงเพลงประกอบก็โคตรได้ ที่สำคัญ เจนนิษฐ์ แสดงได้ดีมากกกกกกกก นี่นึกภาพตามเลยว่าตอนถ่ายคงยากน่าดู เพราะบนเครื่องเล่นที่กำลังหมุนติ้วๆอยู่นั้น น้องต้องระเบิดความเสียใจออกมา และไม่ใช่เวลาสั้นๆด้วยนะ แต่ทำได้ถึงและอินมาก ขอปรบมือให้ เจนนิษฐ์ และ พี่คงเดช สำหรับซีนนี้เลยครับ
- ประเด็นเรื่องหัวใจแม่ที่บริจาคให้ผู้อื่นก็ชอบมากๆ (อันนี้ก็คิดได้ไงอีกแล้ว) แสดงให้เห็นว่าการมีน้ำใจ การเสียสละ การช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีเสมอไป เราว่าการช่วยเหลือใครสักคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต่างกับการสุ่มกาชาฯ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าความช่วยเหลือของเรามันคุ้มค่าแก่การเสียสละหรือไม่....ซึ่งในกรณีของ ซู นั้น คำตอบคือ “ไม่”
- ฉากท้ายๆของ ซู ที่หันมามองน้องชายกำลังเตรียมตัวเปิดร้าน ก่อนจะเดินจากแล้วขี่มอเตอร์ไซค์ออกไป ชวนให้เรานึกถึงตอนจบของหนังเรื่อง Dogtooth (2009) ที่ตัวเอกพยายามหนีออกไปจากชีวิตที่เป็นอยู่ แต่ไม่รู้จะไปที่ไหน อย่างไร ในเมื่อถูกตีกรอบมาทั้งชีวิตจนเคยชิน เช่นเดียวกับ ซู ที่รู้จักเนื้อหมูมากกว่าโลกทั้งใบเสียอีก!?
- ซีนสุดท้ายของหนัง ที่ เบล ขี่มอเตอร์ไซค์แล้วร้องไห้ เรารู้สึกสะเทือนใจเหมือนกัน ราวกับว่า เบล พยายามเป็นส่วนสำคัญของชีวิตคนรอบข้าง เธอแคร์คนอื่นมากกว่าตัวเองเสมอ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้สำคัญสำหรับใครเลย
- ขนาดคุณย่าแท้ๆที่ เบล ตั้งใจดูแลทั้งชีวิต ยังถามหา ซู มากกว่า
- จริงอยู่ ที่เรื่องส่วนใหญ่ดำเนินด้วยตัวละครหลักอย่าง ซู แต่เรากลับสัมผัสถึงชื่อเรื่องของหนัง “ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า?” จากตัวละครสมทบอย่าง เบล ได้มากกว่า เพราะในชีวิตจริง เชื่อว่ามีหลายคนที่เคยมีความรู้สึกแบบนี้ ความรู้สึกที่ว่า เราพยายามมอบความสำคัญให้กับใคร แต่เรากลับไม่ใช่ส่วนสำคัญสำหรับเขา ดังข้อความที่ เบล อ่านในหนังสือของ แม่ซู
....
โดยรวมแล้ว Where We Belong มีความเป็นหนังอาร์ตที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะ dialogue นั้นสื่อออกมาอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม
ส่วนตัวที่ชอบมากก็คือนักแสดง เจนนิษฐ์ และ มิวสิค แสดงได้ดีมาก สลัดภาพไอดอลสวยใสได้หมดจด คาดว่าน่าจะมีชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงหลักและนักแสดงสมทบยอดเยี่ยมสักรายการได้ไม่ยาก และอีกหนึ่งคนที่เราชื่นชมเป็นพิเศษ คือ ฝ้าย ที่เล่นบทสาวเสื้อกล้ามดูแลร้านเช่าการ์ตูนได้ถึงดี ที่สำคัญ ในฐานะที่เราเป็นมือกลอง และเคยดูคลิป ฝ้าย ตีกลองมาก่อน บอกเลยว่าน้องมีฝีมือทีเดียว ฉะนั้น ฉากที่ ฝ้าย ต้องตีกลองแล้วทำให้วงล่มได้อย่างเป็นธรรมชาตินั้นไม่ง่ายเลย แต่น้องทำออกมาได้ดีมาก อันนี้ขอปรบมือให้แบบส่วนตัวนิดหน่อยครับ 5555
ทิ้งท้ายด้วยสิ่งที่ทุกคนต้องถาม ว่าหนังดีไหม?....เราว่ามันเป็นหนังที่ดีนะ แต่ก็ไม่ได้ว้าวมากขนาดนั้น แต่ที่สุดแล้วเราไม่อาจตอบแทนสายตาทุกคนได้ อยากให้ได้ดูกันเอาเอง
ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ เริ่มอยากกลับไปดูอีกสักรอบเหมือนกัน คิดว่าน่าจะตกหล่นอะไรไปพอสมควร ใครที่เห็นว่าเราพลาดตรงไหนไป แสดงความคิดเห็นกันได้ หรือถ้าใครเห็นอะไรต่างไปจากเรา ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ
หนังปลายเปิดแบบนี้ มันเปิดโอกาสให้ผู้ชมแลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว :)
コメント