The Ordinary [บุคคลสามัญ] : ศิลปิน X ครูคณิตศาสตร์ ในวิถีของครูกั๊ก “ร่มเกล้า ช้างน้อย”
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Mar 16, 2019
- 4 min read

บ่ายวันหนึ่งในรั้วจุฬาฯ ครูกั๊กได้พาเรามาเยี่ยมชมคณะครุศาสตร์ที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้แวะเวียนมานาน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดของชีวิตคนธรรมดาๆคนหนึ่ง ซึ่งเคยฝันว่าอยากเป็นนักวอลเลย์บอล เป็นนักดนตรี แล้วมาจบที่ครูสอนคณิตศาสตร์ อะไรที่ทำให้ชีวิตของครูกั๊กผกผันแบบหนังคนละม้วนได้ขนาดนี้ พร้อมเผยคำตอบที่น่าจะคาใจใครหลายคน ว่าเราจะเรียนคณิตศาสตร์ไปทำไม? ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง? ติดตามจากบมสัมภาษณ์นี้ได้เลยครับ

แนะนำตัว
สวัสดีครับ ชื่อ ร่มเกล้า ช้างน้อย ชื่อเล่น “กุ๊กกั๊ก” เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมฯอยู่ที่โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งครับ
จุดเริ่มต้นที่อยากเป็นครู
ตอนแรกก็ไม่ได้อยากเป็นครูหรอกครับ ผมเข้ามาเรียนเพราะรุ่นพี่ครุฯคนหนึ่งเขาบอกว่าแดดจุฬาฯโดนแล้วขาว สาวจุฬาฯก็สวย แค่นั้นแหละ ผมเลือกครุศาสตร์จุฬาฯเลย (หัวเราะ) แต่เริ่มอยากเป็นครูจริงๆช่วงเรียนปี 1 นี่แหละครับ ตอนเทอมแรกมันยังเรียนพวกวิชาการทั่วไปอยู่ ก็ยังไม่ได้สนใจจะเป็นครูเท่าไร จนได้สมัครเป็นสตาฟฟ์ค่ายชื่อ “อยากเป็นครู” ซึ่งตอนนั้นผมเป็นมือกลองสันทนาการเฉยๆ ก็ไปอยู่กับเขา 3 วัน ได้เห็นมุมมองดีๆจากพี่ในคณะเกี่ยวกับการเป็นครู ก็ได้เรียนรู้ไปกับพวกน้องๆในค่ายด้วย อย่างน้องคนหนึ่งชื่อ แชมป์ ตอนนี้เป็นครูไปแล้วแหละ ตอนนั้นน้องเขาอยากเป็นครูมาก แล้วชีวิตเขาดราม่ามาก ผมเลยรู้สึกว่า ทำไมเราอยากเป็นครูน้อยกว่าน้องเขาอีกวะ ทั้งที่เราเป็นสตาฟฟ์แท้ๆ เลยรู้สึกแพ้ไม่ได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเลยตั้งใจ พยายามเสพทุกอย่างเกี่ยวกับความเป็นครู
ใช้คำว่า “เสพ” แสดงว่าอินมาก?
ใช่ครับ อินมาก บางทีอินเกินไปด้วยซ้ำ ถึงขั้นอคติเลยนะ ว่าจบครูแล้วไม่เป็นครูนี่เสียดายเป็นบ้า แต่พอโตขึ้นมาก็เริ่มคิดได้ว่าใครจะจบอะไร จะทำอะไร มันก็เรื่องของเขา เราทำตัวเองให้ดีที่สุดก็พอ ก็อยากเป็นครูมาตลอด จนมาฝึกสอนที่โรงเรียนหนึ่ง แล้วได้พบนักเรียนที่ดี ก็ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นครูต่อไปครับ
อยากเป็นครูตอนเข้ามหาวิทยาลัย แล้วก่อนหน้านั้นเคยฝันอยากเป็นอะไร?
ตอนเด็กๆอยากเป็นนักกีฬาครับ อยากเป็นนักวอลเลย์บอล เพราะพ่อเคยเป็นโค้ชระดับเยาวชนทีมชาติ แล้วตอนเด็กๆพ่อก็จะให้มาเล่นมาซ้อมกับพวกนักกีฬาของหน่วยงานพ่อ ก็คือทหารเรือ เวลามีแข่งวอลเวลย์บอลกันเขาก็จะมีดึงเยาวชนเข้ามาร่วมด้วยบ้าง ซึ่งผมคือหนึ่งในนั้น ก็ได้ซ้อมกับพวกเขา บางคนคือระดับทีมชาติเลยด้วย เราก็อยากเป็นอย่างเขาให้ได้ ตอนนั้นก็พยายามฝึกทุกอย่าง มีไปแข่งบ้าง เคยได้แชมป์ระดับอำเภอด้วย ซึ่งทั้งอำเภอแข่งกันอยู่ 2 โรงเรียน (หัวเราะ) พอเข้ามหา’ลัยมันมีทางเลือกอยู่ 3 ทาง หนึ่งเป็นนักกีฬาของมหา’ลัย สองตอนนั้นมีรุ่นพี่ชวนให้ไปทำงานของโครงการบริหารนิสิตจุฬาฯ สามก็คือทำงานคณะ สุดท้ายตัดสินใจเลือกทำงานคณะ
นอกจากวอลเลย์บอลแล้ว มีอย่างอื่นอีกไหม?
ต่อเนื่องเลย คือตอนนั้นรู้สึกไปเองว่าวอลเลย์บอลไม่ใช่กีฬาของผู้ชาย เพราะสมัยนั้นคนคิดกันแบบนั้น เลยกลัวว่าผู้หญิงที่ผมจีบจะเข้าใจผมผิด เลยหันไปเล่นฟุตบอลแทน แต่ก็ไปไม่รอด (หัวเราะ) จากนั้นก็เริ่มหัดวาดรูป เพราะอยากจีบสาว ซึ่งวาดเก่งด้วยนะสมัยนั้น เคยได้ที่ 1 ของโรงเรียนด้วย ต่อมาก็เริ่มเล่นดนตรี เหตุผลเดียวกัน คือจีบสาว (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นมี 3 อย่างที่ผมถนัด คือ กีฬา วาดรูป และดนตรี ซึ่งอย่างหลังดูจะมีอนาคตที่สุด ก็เริ่มชอบดนตรี ทุกครั้งที่เล่นดนตรีผมจะจินตนาการว่ากำลังเล่นในฮอลล์ใหญ่ๆ แล้วมีคนฟังยืนปรบมือให้เรา ทั้งที่ตอนนั้นเล่นเป็นแค่ melodion (หัวเราะ) เป็นคนชอบจินตนาการอะไรแปลกๆตั้งแต่เด็กแล้วครับ
สมัยเด็กดูจะเด่นด้านกิจกรรม ทั้งกีฬา ศิลปะ และดนตรี แล้วเกรดเฉลี่ยตอนนั้นเป็นอย่างไร?
ก็ถือว่าดีนะ ตอนม.ปลายเลือกเรียนศิลป์-คำนวณ แต่โดนจับให้มาอยู่สายวิทย์-คณิตฯ ทำไมก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่คิดว่าน่าจะเพราะเกรดเฉลี่ยของผมด้วยแหละ ที่มันสามารถเรียนสายวิทย์ได้ ทั้งที่คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ห่วยมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่ก็พยุงเกรดเฉลี่ยไว้ที่ 3 กว่ามาตลอด อ้อ! เคยมีช่วงที่ติดเกมด้วย เล่นเกมจนเกรดตกเหลือ 2 กว่าๆ ก็รู้สึกแย่มาก เลยกลับมาตั้งใจเรียนใหม่ จนได้เข้าสายวิทย์-คณิตฯ
แต่เป็นเด็กไม่สนใจเรียน?
ใช่ ผมไม่สนใจเรียน แต่ผมเป็นเด็กดีไง เกรดผมไม่ได้ได้มาเพราะเก่ง แต่ได้มาเพราะขยัน ทำการบ้านส่งตลอด นั่งในห้องก็ทำท่าตั้งใจเรียนไปงั้นแหละ แต่ในใจคิดเรื่องอื่นอยู่ แล้วก็อาศัยอ่านหนังสือก่อนสอบ เท่านั้นเอง
แล้วการอ่านหนังสือก่อนสอบเนี่ย เราเข้าใจในสิ่งที่อ่านทั้งหมดหรือเปล่า?
ของแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าใจครับ ขอแค่สอบผ่านก็พอ ในความคิดของผมตอนนั้นนะ และอีกอย่าง ผมเคยมีนิสัยลอกข้อสอบ แต่ลอกแบบมีชั้นเชิงนะ คือลอกเสร็จแล้วเราอ่านในสิ่งที่ลอกด้วย ไม่ได้อยากรู้อะไรขนาดนั้นหรอก แต่กลัวว่าถ้าครูมาถามทีหลังแล้วตอบไม่ได้ เลยได้ทบทวนในสิ่งที่ลอกด้วย ก็ทำให้เข้าใจบทเรียนไปแบบอ้อมๆ
ตอนเข้ามหาวิทยาลัย ทำไมถึงไม่เลือกเรียนดนตรี แล้วหันไปเรียนครุศาสตร์?
ตอนนั้นพ่อผมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง แล้วให้เลือกเอาว่าจะเรียนดนตรีจริงจังไปเลย หรือจะเลือกเรียนด้านวิชาการ ซึ่งตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าวิชาการสำคัญกว่า เลยเก็บเอาเรื่องดนตรีไว้ก่อน ซึ่งก่อนหน้าเราก็เคยเรียนดนตรีมาบ้างแล้วแหละ ทั้งเปียโน กลอง กีตาร์ ก็ถือว่าได้เรียนแล้ว เลยขอลองจริงจังกับเรื่องอื่นบ้าง ส่วนดนตรีค่อยฝึกจาก youtube เอาก็ได้

แล้วเริ่มสนใจคณิตศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไร
เชื่อไหม ว่าสมัยม.ปลายผมยังถอดสมการ หรือคำนวณพีทากอรัสไม่เป็นเลยนะ จนกระทั่งตอนที่พ่อให้เลือกนี่แหละ ผมเลยไปเรียนพิเศษ แล้วก็ได้เรียนเลขกับครูต้อยที่สัตหีบ ราคาเดือนละ 400 บาทเท่านั้น ไม่ได้เปิดเป็นสถาบัน แต่ทุกคนรู้จักกันดีในนาม “บ้านน้าต้อย” จนถึงตอนนี้ก็ 10 กว่าปีแล้ว ครูต้อยก็ยังคิดราคาเดิม (หัวเราะ) เขาเป็นครูที่ดีมากเลยนะ ใส่ใจนักเรียนทุกคนมาก แต่อาจไม่เข้ากับระบบหลายๆอย่างของโรงเรียน แกเลยเปิดบ้านสอนด้วยตัวเองเลย ครูต้อยก็เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจเล็กๆที่ทำให้ผมอยากเป็นครูเลขที่ดีด้วย
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างก็คือการได้เรียนเรื่องเซตกับเรื่องตรรกศาสตร์ ซึ่งมันมีความเป็นเหตุเป็นผล และมีภาพบางอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่า โห คณิตศาสตร์มันมีโลกแบบนี้ด้วย!? ก็เริ่มสนใจ ที่สำคัญคือมีครูที่ดีด้วย อันนี้หมายถึงครูที่โรงเรียนนะครับ จำชื่อไม่ได้แล้ว แต่จำได้ว่าหน้าเหมือนพ่อเลย (หัวเราะ) เขาสอนดีมากครับ ทำให้เรารู้สึกว่าคณิตศาสตร์จับต้องได้ และสามารถใช้ได้กับเรื่องรอบตัว
เทคนิคการสอนเลขของครูกั๊กเป็นอย่างไร
เริ่มจากการเตรียมตัวก่อน ใช้เทคนิคเดียวกับตอนอ่านหนังสือสอบ คือเจออะไรแปลกๆ ให้วงไว้ก่อนเลย ว่าอันนี้เด็กน่าจะถามแน่ๆ แล้วเราก็จะต้องหาวิธีอธิบายให้เห็นภาพ ให้จับต้องได้มากที่สุด อย่างเช่นอันนึงที่เจอเด็กถามบ่อยๆ ว่าทำไมเศษส่วน ตัวส่วนถึงห้ามเป็นศูนย์? ถ้าไปอ่านตามตำรา เขาจะตอบว่ามันไม่มีความหมาย ถ้าตอบเด็กไปแบบนี้ เด็กจะถามต่อแน่นอนว่าทำไมถึงไม่มีความหมาย เราก็ต้องไปหาวิธีอธิบายให้เขา ซึ่งเพื่อนที่เป็นนักคณิตศาสตร์เขาก็บอกผมนะ ว่าจริงๆไม่ต้องไปอธิบายก็ได้ มันอนิยามก็คือไม่มีความหมายอยู่แล้ว แต่ผมจะมองในมุมของคนที่ไม่ได้ชอบเลขด้วย ว่าเขาต้องสังสัยแน่นอน ว่าคืออะไรวะ?
แล้วคำอธิบายของครูกั๊กคือ?
ที่ผมคิดเอาเองนะ สมมติถ้าผมพูดว่า “หยิบเค้กมาหนึ่งส่วนสี่” แสดงว่าหยิบเค้ก 1 ชิ้น จาก 4 ชิ้น ใช่ไหม แล้วถ้า “หยิบเค้กสองส่วนสี่” คือหยิบเค้ก 2 ชิ้น จาก 4 ชิ้น แล้วถ้าผมบอกว่า “หยิบเค้กสามส่วนศูนย์” จะหมายความว่าอย่างไร? หมายความว่าหยิบเค้ก 3 ชิ้น จาก 0 ชิ้น ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ นี่แหละทำให้ส่วนเป็นศูนย์จึงไม่มีความหมาย เข้าใจแล้วใช่ไหมครับ?
เนี่ย จริงๆผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอินในคณิตศาสตร์หรือเปล่า แต่ผมหลงใหลในวิธีการอธิบายคณิตศาสตร์
แล้วมีวิธีอธิบายกับเด็กอย่างไรว่าวิชาคณิตศาสตร์มีความสำคัญ โดยเฉพาะเด็กมัธยมที่อยู่ในวัยกำลังค้นหาตัวเอง?
ต้องแบ่งเป็น 2 วิชาครับ วิชาแรกคือคณิตศาสตร์เพิ่มเติม วิชานี้ต้องเป็นเด็กที่เลือกเรียนสายนี้เท่านั้นจึงจะได้เรียน แสดงว่าโจทย์ที่ผมตั้งให้กับเด็กคือ เราเรียนสายนี้ไปทำไม? ทั้งวิทย์-คณิตฯ หรือศิลป์-คำนวณ ไม่ว่าโตขึ้นอยากทำอาชีพอะไรก็ล้วนใช้คณิตศาสตร์หมด เพียงแต่ใช้ไม่เหมือนกัน ตอนนี้เราก็เรียนกว้างๆไปก่อน แล้วค่อยนำไปต่อยอดทีหลัง
เรียน ม.ปลาย มันเหมือนการช็อปปิ้งน่ะ ดูๆสินค้าไปก่อน ซื้อหรือไม่ ไม่รู้ แต่ขอให้รู้ว่ามันมีอันนี้อยู่ แล้วพอเข้ามหาลัย ต้องใช้อันไหนค่อยกลับมาซื้อ แล้วเอาไปพัฒนาต่อ
ถ้าเป็นสายนี้ ผมตอบแค่นี้เลยนะ แต่มันคงไม่จบง่ายๆหรอก มันคงมีคำถามอยู่เสมอแหละ ว่าบางอันเรียนไปทำไม อย่างเช่นที่พี่ โน้ส อุดม เคยพูดไว้ในเดี่ยวไมโครโฟน ว่าพายอาร์กำลังสองเนี่ย เรียนไปทำไม หาพื้นที่วงกลมบนจานข้าวเหรอ? เป็นผม ผมก็ไม่ทำ แล้วมันก็มีคำถามขึ้นมาว่าสอนไปทำไม เรียนเพื่อนนำไปสอบอย่างเดียวเหรอ ไม่มีประโยชน์เลย
ตรงนี้แหละ ผมเลยลองพยายามหาคำตอบ ด้วยการโพสต์ลง facebook พร้อม 4 คำถาม ว่าทำอาชีพอะไร? ตำแหน่งอะไร? ใช้คณิตศาสตร์ในอาชีพตัวเองยังไงบ้าง? และอยากฝากอะไรถึงคนที่เกลียดเลข? มีคนมาตอบประมาณหกสิบกว่าคนได้ ผมว่าโคตรมีประโยชน์เลย คือแม่งเปิดโลกผมมาก เราเลิกมองข้ามไปว่าชีวิตประจำวันเราใช้อะไร เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่ได้ใช้ชีวิตประจำวัน เราใช้ชีวิตไปกับการทำงานมากกว่า หรือเอาแค่สมัยเป็นนักเรียนก็ได้ คุณไม่ได้ใช้คณิตศาสตร์ทุกคาบ เนี่ยคือชีวิตประจำวันของเขา พอโตขึ้นมาก็เปลี่ยนสถานะเป็นคนทำงาน สมมติว่าทำอาชีพคนขายเค้ก เขาใช้คณิตศาสตร์เยอะเลยนะ เช่นการตวงส่วนผสมต่างๆ ซึ่งมันต้องเป๊ะ ถึงจะได้เค้กที่อร่อยเหมือนกันทุกชิ้น หรือจะเป็นการขาย ที่เขาต้องคอยดูว่าเค้กแบบไหนขายดีกว่ากัน แล้วก็ต้องกะปริมาณในการซื้อวัตถุดิบหรือส่วนผสมในแต่ละวัน ให้เหมาะสมกับสถิติการซื้อขายที่ผ่านมา เนี่ย ใช้คณิตศาสตร์ตั้งหลายเรื่องแน่ะ
แล้วอีกวิชาหนึ่งล่ะ?
วิชาคณิตศาสตร์พื้นฐาน เป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียน ผมตั้งโจทย์ว่ามันจะต้องใช้ได้กับทุกอาชีพ อย่างน้อยเรื่องเซต เรื่องการจับกลุ่ม คิดว่าน่าจะได้ใช้กันทุกคน อย่าง facebook นี่ก็ใช้เรื่องเซตอยู่ พวก mutual friends อะไรพวกนี้ ซึ่งโยงไปหาวิชาสังคมได้อีก เนี่ยจากเลขพื้นฐานทั้งหมด 9 บทเรียน Mark Zuckerberg ใช้แค่บทเรียนเดียวในการไปต่อยอดอย่างอื่นนะ
เกี่ยวไหมว่า เพราะคณิตศาสตร์ไม่มีอิสระทางความคิด เพราะมันเป็นแค่ตัวเลขที่คำนวณแล้วมีผลลัพธ์ตายตัว?
จะว่าอย่างนั้นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะอย่างเรื่องกำหนดตัวแปร เราสามารถกำหนดเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่แค่ x หรือ y นี่ก็ถือว่าอิสระนะ จริงอยู่ที่ปลายทางอาจมีปลายทางเดียว แต่เส้นทางระหว่างนั้นมันหลากหลายมาก เหมือนสูตรคณิตศาสตร์สูตรเดียว สามารถใช้ได้กับหลากหลายอาชีพ
หรือเป็นที่ครู ที่เขาสอนคณิตศาสตร์แค่เรื่องตัวเลข ไม่ได้อธิบายว่าในชีวิตจริงใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง?
ผมว่ามีส่วนนะ คิดว่าเป็นปัจจัยหลักเลยด้วย เพราะครูคือผู้ถ่ายทอด เป็นผู้ที่นำสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง ถ้าตัวกลางมันไม่ดี เด็กก็จะมองเห็นคณิตศาสตร์เป็นได้แค่นั้น ซึ่งถ้าครูไม่ได้รักในบทนั้น เด็กก็ไม่รักตามไปด้วย แต่ถ้ารักมากเกินไป เด็กก็ไม่อินอีก (หัวเราะ) แบบ....ถ้าบอกว่าสมการนี้มันดีมากเลยนะ เด็กก็จะแบบ....อะไรวะ? (หัวเราะ)
สำหรับผมเอง สอนที่นี่มาเข้าปีที่ 4 ละ สิ่งที่พยายามทำมากๆ คือการทำให้เด็กของเราไปได้เท่าทันกับเด็กโรงเรียนอื่น ก็ไม่ได้ชอบการเปรียบเทียบหรอกนะ แต่ระบบมันบีบให้ต้องเปรียบเทียบ เพราะการสอบมันเป็นข้อสอบกลาง สุดท้ายมันก็วัดผลตรงนี้อยู่ดี ต่อให้มีสอบสัมภาษณ์ แล้วไงอ่ะ คะแนนไม่ถึงก็ไม่มีสิทธิ์สัมภาษณ์อยู่ดี เราก็ต้องพยายามส่งเด็กของเราไปอยู่ตรงนั้นให้ได้มากที่สุด
ตอนนี้ ผมตั้งเป้าว่าจะสอนในห้องเรียนให้สนุกที่สุด เนื้อหาช่างมัน เพราะผมสอนเด็กกลุ่มเดิมมา 3 ปี ความรู้มันก็เท่ากับตอนที่สอนพิเศษ 1 เดือนนั่นแหละ ถ้างั้น เดี๋ยวค่อยไปเรียนหนักๆกันช่วงนั้นก็ได้ ฉะนั้น กระบวนการสอนแบบเดิมมันไม่ได้มีประสิทธิภาพขนาดนั้น เพราะมันไม่คงทนเลย ผมว่ามันต้องเปลี่ยน ถ้าไม่เปลี่ยน แสดงว่าเรากำลังใช้สมมติฐานเดิม แต่ต้องการผลลัพธ์ใหม่ๆ ซึ่งแม่งบ้า!?
ฉะนั้น เปลี่ยนวิธีการสอนเถอะ เพราะต่อให้อัดเนื้อหาแค่ไหน เด็กมันก็ไม่ได้ต้องการขนาดนั้นนี่ นี่ผมทำคลิปการสอนด้วยนะ มีเด็กเข้าไปดูประมาณ 5% จากที่ผมสอน หมายความว่ามีเด็กสนใจเนื้อหาที่ผมสอนแค่ 5 จาก 100 คนเอง แล้วทำไมเราต้องยัดเยียดทุกอย่างให้กับเด็กทั้งหมด 100 คนด้วย? ฉะนั้นก็ต้องเปิดช่องทางใหม่สำหรับคนที่สนใจนั่นแหละ เพราะอย่างนี้ไง เราถึงต้องเปลี่ยนวิธี ซึ่งผมว่าวิธีนี้เหมาะกับโรงเรียนระดับปานกลางค่อนไปทางอ่อนอย่างโรงเรียนที่ผมสอนดี
อธิบายโดยรวมง่ายๆ ผมจะทำในห้องเรียนสนุกไว้ก่อน อย่างน้อยให้เด็กที่สนใจเข้าถึงได้ง่าย และเด็กที่ไม่สนใจก็ไม่เกิดอคติกับวิชาที่เราสอน ให้สามารถเรียนได้ นำไปสอบได้ อยู่ในระบบที่มีการเปรียบเทียบได้ สรุปคือทุกคนต้องเข้าถึงได้ ส่วนใครจะอินแล้วไปต่อค่อยมาคุยกับเรา เราจะต่อยอดให้
งั้นถามหน่อยว่า ตอนที่เรียนจบ ทำไมถึงตัดสินใจเลือกโรงเรียนระดับกลางค่อนไปทางอ่อน แทนที่จะเป็นครูในโรงเรียนดีๆ อยู่กับสภาพแวดล้อมที่มีแต่เด็กเก่งๆ?
ตอนฝึกสอน เทอมนึงผมฝึกสอนที่โรงเรียนเอกชน ส่วนอีกเทอมเป็นโรงเรียนสาธิตฯ ซึ่งเด็กดีทั้งคู่ ผมเลยรู้สึกว่ามันดีอยู่แล้ว ดีในระดับที่รับได้ และเราไม่ได้อยากใช้ความรู้คณิตศาสตร์แบบ expert ขนาดนั้น ให้คนที่เขาอินกับเรื่องนี้มากๆ ไปสอนดีกว่า เพื่อต่อยอดเด็กที่เก่งอยู่แล้วให้เก่งยิ่งขึ้นไปอีก เราคงไม่เหมาะกับแนวนี้ และอีกอย่าง ผมเลือกโรงเรียนที่ใกล้หอที่สุดในตอนนั้นด้วยครับ ก็เลยได้มาสอนโรงเรียนนี้ (หัวเราะ)
ทุกวันนี้ยังมีความสุขดีกับการเป็นครู?
มีความสุขดีครับ
แม้จะรู้ว่าระบบการศึกษามีปัญหา?
ใช่ครับ มีความสุขบนความสนุก คือถ้าเปรียบเป็นเกมก็เหมือนเป็นสายบู๊ สนุกที่จะต่อสู้กับปัญหา สนุกที่จะได้ทะเลาะกับเรื่องที่ควรทะเลาะ คือไม่กลัวอ่ะ ผมเคยประชดผอ.บนเวทีด้วยนะ (หัวเราะ) คือปีที่ผ่านมาผมโดนฝ่ายบริหารเรียกไป 3 รอบ รอบแรกโดนเพราะทำเพลง “เป็นทุกอย่างยกเว้นครู” มี MV ด้วยนะ ซึ่งก็โดนเรียกไปคุย แต่ผมไม่ได้พูดอะไรนะ เพราะรู้ว่าโดนเรียกไปฟัง ไม่ได้เรียกไปพูด ถัดมาคือผมแต่งกลอนเสียดสีเกี่ยวกับการแต่งกายถูกระเบียบของครู โพสลง facebook ก็โดนแคปฯภาพไป รู้กันทั้งโรงเรียน เดือดร้อนกันเป็นแถว ก็โดนเรียกไปอีก (หัวเราะ)
ครั้งที่ 3 ก็เรื่องเดิมแหละ เรื่องการแต่งตัวให้เรียบร้อย คือผมแค่พับแขนเสื้อนะ ท่านผู้นำเดินมาจับเอาลง ตอนนั้นก็โกรธนะ แต่ไม่ได้ทำอะไรมาก ก็ยืนเถียงกันอยู่เกือบ 10 นาทีแน่ะ ว่าความเป็นครูมันอยู่ที่ใจไม่ใช่เหรอ ซึ่งเป็นคติที่ผมยึดถือมานาน วันต่อมาผมเลยใส่สูท เนคไทอันใหญ่ๆ เตรียมบทเอาไว้ด้วย วางของตรงไหน พูดอะไร จบยังไง เหมือนเล่นละครเวทีเลยครับ เดินขึ้นไปบนเวที แล้วก็พูดตามบท “สวัสดีครับ วันนี้ทุกคนเห็นครูแต่งตัวไม่ปกติใช่ไหมครับ วันนี้ครูจะมาสอนการแต่งตัวที่ถูกระเบียบครับ” เชื่อไหม? เงียบทั้งโรงเรียน แล้วหันมามองกันหมด! (หัวเราะ)
นึกภาพการเข้าแถวหน้าเสาธงนะครับ ปกติเด็กมันจะคุยกัน ต่อให้ตะโกนว่า “เงียบ!” มันก็ยังคุยกัน แต่ด้วยการแสดงของผม ซึ่งผมมองว่าเป็นศิลปะอย่างนึงนะ ทำให้ทุกคนเงียบและสนใจได้ โดยไม่ต้องบังคับใคร จากนั้นผมก็ค่อยๆ ถอดพร้อมกับเล่าประวัติศาสตร์ของมันทีละชิ้น สุดท้ายก็เหลือแค่ชุดปกติ แล้วก็บอกกับนักเรียนว่า “วันนึงที่เราเป็นผู้ใหญ่ เราต้องรู้เองว่าการแต่งตัวแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเรา โตแล้วต้องคิดให้ได้ครับ ขอบคุณครับ” เด็กตบมือกันทั้งโรงเรียน ผมนี่แบบ....เฮ้ย จะตบมือกันทำไมวะ เดี๋ยวกูก็โดนอีกหรอก....แล้วก็โดนจริงๆ (หัวเราะ)
สังเกตว่าทุกครั้งผมโดนเพราะเรื่องศิลปะ ทั้งเพลง ทั้งกลอน ทั้งการแสดง ไม่น่าเชื่อว่าคนตัวเล็กๆ ธรรมดาๆ อย่างเราจะสร้าง impact กับคนอื่นขนาดนี้ได้ เนี่ยโคตรสนุกเลย รู้สึกตัวเองเป็นผู้ชนะ (หัวเราะ) ผมเรียนศิลปะมาก็จริงนะ แต่ไม่เคยมีใครสอนเรื่อง impact จากศิลปะ และทำให้รู้แล้วว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ส่งเสริมวิชาศิลปะ เพราะกลัวโดนด่าไง ซึ่งมันเจ็บและอยู่นาน ตอนนี้ ฝ่ายบริหารเริ่มเข้าใจแล้วว่าใช้ไม้แข็งกับผมไม่ได้ ก็เป็นการเรียนรู้ที่ดีครับ (หัวเราะ)

จากที่คุยกันมา ครูกั๊กมีความอินเรื่องศิลปะพอสมควร เช่นดนตรี วาดรูป การแสดง เคยมีความฝันเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างไหม?
เคยครับ ตอนแรกอยากเป็นศิลปิน แต่งเพลง เล่นกีตาร์ ร้องเพลง แบบพี่แสตมป์ อภิวัชร์, พี่ว่าน ธนกฤต ประมาณนี้ ให้ร้องอย่างเดียว หรือเล่นกีตาร์อย่างเดียวก็ไม่เอา อยากเล่นไปด้วยร้องไปด้วย ทุกวันนี้ก็ยังคิดเรื่องนี้อยู่นะ แต่พอไปคิดเรื่องเป็นครูแล้ว มันไปด้วยกันค่อนข้างยาก ก็มานั่งไตร่ตรองตัวเองจริงๆ ว่าความสุขของตัวเองอยู่ตรงไหน ที่สุดแล้วผมค้นพบว่ามันคือเรื่อง ‘เสียง’ ผมทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเสียง ผมมีความสุขหมด ไม่ว่าจะทำเพลง คุมซาวด์ ตัดต่อเสียง ซึ่งการสอนก็ต้องใช้เสียงเหมือนกัน
ตอนนี้ทำงานด้านกราฟิกด้วย คือเราก็ไม่ค่อยเป็นหรอก ก็เริ่มเรียนรู้ผ่านโปรแกรมที่ใช้สอนอยู่แล้ว ก็คือโปรแกรม Power Point เพิ่งรู้ว่าโปรแกรมนี้มันใช้วาดรูปได้ ทำกราฟิกได้ จนพัฒนาไปใช้ Photoshop ก็ทำให้เรากลับไปสู่สิ่งที่ชอบในวัยเด็กได้
เคยคิดอยากทำเป็นอาชีพไหม?
ดนตรีน่ะเคยครับ แต่วาดรูปนี่แค่ชอบเฉยๆ
แล้วทุกวันนี้ได้ใช้ศิลปะประกอบกับการสอนบ้างหรือเปล่า?
อย่าเรียกว่า ‘บ้าง’ เรียกว่า ‘ทั้งหมด’ เลยดีกว่า แบบเราจะจัดองค์ประกอบสไลด์ยังไงให้เด็กจดตามได้ง่าย การใช้สี การเลือก animation ฯลฯ ก็ทำให้ห้องเรียนดู active ขึ้นกว่าปกติ แต่กว่าจะคิดกว่าจะทำออกมาได้มันใช้เวลานานมากเลยนะ (หัวเราะ) แต่มันก็คุ้มนะครับ เป็นการเอาความรู้ด้านศิลปะ คณติศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ มายำรวมกัน
พวกค่ายคณิตฯเองก็ใช้ศิลปะ สังเกตว่าพอมันเป็นค่าย มันจะรู้สึกสนุก รู้สึกวิชาการน้อยลงทันที ผมก็เลยคิดว่าทำไมไม่เอาความสนุกแบบค่ายมาใช้ในห้องเรียนไปเลยล่ะ แต่ก็ได้คำตอบว่ามันจัดแบบนี้ไม่ได้ทุกบท บางเนื้อหาก็ต้องนั่งนิ่งๆ บ้าง เคยอ่านการทดลองนึง เขาปล่อยให้เด็กอยู่ในห้องเรียน แล้วโยนเนื้อหาเข้าไป บางวิชาเด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ จบเลย แต่บางเนื้อหาก็เรียนไม่ได้ ผลการทดลองก็ง่ายๆ คือบางเรื่องก็ต้องสอน บางเรื่องก็เรียนรู้เองได้ เลยเป็นโจทย์สำหรับครูทุกคน ว่าเรื่องไหนที่เด็กเรียนรู้เองได้ เรื่องไหนที่ต้องสอน
จะว่าไป การสอนก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งนะ คือศิลปะการถ่ายทอด พวกการพูด การใช้คำ การใช้ท่าทาง ถ้าเรายืนสอนเฉยๆ ห้องเรียนมันก็ไม่ active มันก็ต้องใช้วิชาการละครบ้าง ใช้ท่าทาง เดินไปตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เป็นการบาลานซ์ห้องเรียน เหมือนบาลานซ์เวที อะไรอย่างนี้
ที่มีความสุขกับการสอน เพราะผมคิดว่าการสอนเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งครับ
อันนี้คือด้านภาพและการแสดง แล้วด้านดนตรีล่ะ ได้นำมาใช้ด้วยไหม?
เรียกว่าสร้างสีสันดีกว่า คือผมจะแต่งเพลงเกี่ยวกับหลักการทางคณิตศาสตร์บ้าง บางทีก็แต่งสอน หรือแต่งให้ท่องจำไปเลย ทีแรกผมจะแต่งเพลงที่เป็นทำนองของตัวเอง แต่ไม่ติดหูเด็กเท่าไร เด็กก็ไม่ค่อยอยากร้อง เลยใช้เพลงที่มีอยู่แล้ว พวกเพลงฮิตทั่วไปนี่แหละ มาแปลงเนื้อเอา ก็ได้ผลค่อนข้างโอเคนะ อาจจะไม่มากแต่ก็สร้างสีสันได้เยอะเลย ทำให้ห้องเรียนไม่จืดชืดเกินไป
ขอพูดถึงเพลงนึงหน่อย ชื่อเพลง “ตรีโก๊ณ” แปลงเนื้อมาจากเพลง “มาเลเซีย” ของพี่เป้ อารักษ์ เป็นเพลงแรกที่ผมลองทำด้วย สอนเรื่องตรีโกณมิติ ผมมีแอบทำวิจัยเล็กน้อยด้วย ผลคือเด็กร้องกันได้ อาจเพราะทำนองมันตลกด้วยแหละ ‘ตรีโก๊ณๆ’ มันเพี้ยนวรรณยุกต์ เด็กก็เลยชอบ (หัวเราะ) ซึ่งคนที่ทำตารางจากที่สอนในเพลงคือสอบผ่านกันหมด ก็ถือว่าได้ผล
อีกเรื่องที่ประทับใจมากจากเพลงนี้ มีครั้งหนึ่งผมไปสอนภาคใต้ ผมก็สอน “โอเค เดี๋ยวเรื่องตรีโกณมิติครูจะมีเพลงให้” แล้วผมก็เปิดเพลง ปรากฏว่าเด็กร้องกันได้ทั้งห้อง! ผมก็….เฮ้ย ไปฟังมาจากไหน? เด็กๆก็บอกว่าคุณครูเปิดให้ฟัง หมายถึงครูท่านอื่นเคยเปิดให้เด็กๆ ฟังก่อนที่ผมจะมาอ่ะนะ ผมก็ถาม “แล้วรู้ไหม ว่าครูเป็นคนแต่งเอง?” เด็กก็แบบ....เฮ้ย จริงเหรอ! พอเลิกเรียนเหมือนแฟนคลับพบศิลปินอ่ะ เด็กๆ มาขอจับมือ ขอลายเซ็นอ่ะ มีคนบอก....ขอบคุณครูมากเลยนะ ที่ทำให้ผมสอบผ่าน ผมแบบ....เชี่ยยยยย!!!! เพลงนี้แต่งไว้ตั้ง 3-4 ปีแล้ว เพิ่งรู้ว่ามีคนอื่นเอามาใช้สอนด้วย แล้วเด็กมันสอบผ่านจริงๆ ยิ่งตอกย้ำเลยนะ ว่าศิลปะสร้าง impact ได้ ถ้าใช้มันเป็น

คำ - ถาม - นอก - รอบ
มองการศึกษาไทยอย่างไร ในฐานะครูคนหนึ่ง?
ผมมองว่าการศึกษาเปลี่ยนได้ทุกวัน เหมือนนโยบายที่เปลี่ยนได้ทุกชั่วโมง (หัวเราะ) หมายถึง เราสามารถเปลี่ยนมันได้ด้วยตัวเราเองอยู่แล้ว ก็อยากให้ครูที่ยังมีแรงอยู่ช่วยกันนะ ให้ครูที่หมดแรงไปแล้วได้เห็น แล้วกลับมามีแรงช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทยอีกครั้ง
สำหรับตัวผมเอง ตอนนี้ผมมีทีมงานเป็นครูสอนเลขอยู่ประมาณ 10 คน คิดว่าจะทำวิจัยกัน เราจะช่วยกันคิดกระบวนการสอนในเนื้อหาเดียวกัน แล้วพัฒนาให้มันเป็นกลางที่สุด เอาแบบใครๆ ก็จับต้องได้ แล้วเอานวัตกรรมนี้ส่งต่อให้ทุกคนฟรีๆ ให้มันเป็นสมบัติของโลก ไม่ใช่สมบัติของพวกเรา ซึ่งคิดว่าจะทำภายใน 10 ปีนี้แหละครับ
แล้วถ้าได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จะทำสิ่งใดเป็นอย่างแรก?
ลาออก! (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าปัญหามันต้องแก้จากหลายๆ ทาง แต่ผมไม่ได้เก่งขนาดนั้น ขอเป็นทหารที่คอยรบอยู่ในโรงเรียนดีกว่า และอีกอย่าง ผมไม่เชื่อว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯจะแก้ปัญหาอะไรได้ เพราะปัจจุบันก็ไม่เห็นจะแก้อะไรได้เลย ทุกวันนี้เหมือนมีกระทรวงศึกษาฯไว้เพื่อออกใบประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น ฉะนั้นอย่าไปคาดหวังอะไรกับเขาเลยครับ
คิดว่า การเมือง, สงคราม, ศาสนา, เพศ คิดว่าเรื่องพวกนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์บ้างไหม?
การเมืองเกี่ยวแน่ๆ เพราะทุกความเคลื่อนไหวของการเมืองมักมีเรื่องสถิติแฝงอยู่ตลอด การเลือกตั้งนี่ก็ใช้ฐานนิยมละ
สงครามนี่ขอพูดถึงเรื่องการเงินละกัน ถ้าเคยดูหนังเรื่อง War Dogs จะรู้เลยว่าสงครามแม่งคือเศรษฐกิจอย่างนึงอ่ะ ไม่แปลกที่สหรัฐฯอยากทำสงคราม
ศาสนา ผมมองเป็นเรื่องของรหัส มีคนบอกว่าเวลามนุษย์จะจำสิ่งต่างๆ มักจะจำเป็นรหัส เช่นเบอร์โทรศัพท์ เลขบัตรประชาชน ฯลฯ ที่เราจะมีการแบ่งวรรคในการช่วยจำ พวกบทสวดของศาสนาก็เช่นกัน ศาสนาพุทธนี่ยิ่งชัดเจนเลย บทสวดมนต์ยาวมากแต่พระสงฆ์ก็จำได้หมด เพราะมันถูกแบ่งวรรคแบ่งตอนไว้ พูดง่ายๆก็คือเรื่องสัดส่วนน่ะแหละ
ส่วนเรื่องเพศ ผมมองในเรื่องของเซต หรือการแบ่งกลุ่ม แบบ....พฤติกรรมนี้ รสนิยมนี้ จัดอยู่ในกลุ่มไหน โดยเฉพาะ LGBT นี่จะโดนแบ่งกลุ่มซะเยอะ
คำถามสุดท้าย....รู้สึกอย่างไรกับการสัมภาษณ์ครั้งนี้?
ก็ดีนะครับ สบายๆ เหมือนได้ระบายให้คนอื่นฟัง บางเรื่องถ้าพูดด้วยน้ำเสียงอาจดูรุนแรงเกินไป ก็ลองให้มันเป็นตัวหนังสือดู อ่านซ้ำได้ น่าจะดีกว่าครับ
story : สินิทธ์ ปนุตติกร
photograph : อิสรีย์ เสรีโยธิน
Comments