[SPOIL & REVIEW) GIRLS DON’T CRY ธุรกิจ ความเป็นมนุษย์ และชีวิตจริง
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Sep 18, 2018
- 1 min read

เคยได้ยินมาว่า “ไอดอล ทำให้โอตะมีที่ยืนในสังคม” แล้วสังคมล่ะ ให้พื้นที่กับไอดอลมากน้อยแค่ไหน?
….
“....คนที่บอกว่ายังพยายามไม่พอ แล้วต้องขนาดไหนมันถึงจะพอ คนที่พูดน่ะลองพยายามแล้วหรือยัง?....”
เป็นประโยคตัดพ้อของน้อง*อันเดอร์คนหนึ่ง ที่ผ่านมาปีกว่าแล้วก็ยังไม่มีโอกาสติด**เซ็มฯเลยสักครั้ง ทั้งที่หลายคนยอมรับในความสามารถและความพยายาม แต่เธอกลับไม่ได้เฉิดฉายสักที ทั้งที่ตัววง BNK48 นั้นมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศแล้ว
*อันเดอร์ (under) = สมาชิกที่ไม่ผ่านการคัดเลือก, ตัวสำรอง / **เซ็มบัตสึ (senbatsu) = สมาชิกที่ผ่านการคัดเลือก, ตัวหลัก
หลายคนอาจพูดได้ว่าเข้าใจและเห็นใจน้องคนนี้ แต่มันก็เป็นเพียงความเข้าใจในจินตนาการของแต่ละคนเท่านั้น แล้วความรู้สึกที่แท้จริงของเขาเป็นอย่างไรกันแน่?
อาจไม่ยุติธรรมเท่าไรสำหรับเด็กคนหนึ่งที่รวบรวมความกล้าเข้ามาสมัครออดิชั่นเพื่อไล่ล่าความฝันของตนเอง ซึ่งก็เหมือนกับเพื่อนในวงคนอื่นๆ ที่ต้องฝึกฝนและพยายามอย่างหนักกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าไม่นับเรื่องระบบของ 48 group ที่มีข้อจำกัดในการติดเซมฯแล้ว ทำไมสังคมกลับยังมองเห็นและให้โอกาสแค่บางคนเท่านั้น?
ถ้าลองมองในมุมธุรกิจ สมมติว่าเรากำลังทำธุรกิจที่มีสินค้าหลากหลาย เริ่มต้นด้วยจำนวนการผลิตเท่ากัน ส่งออกพร้อมกัน ทำการโฆษณาไปพร้อมๆกัน แต่ผลที่ได้กลับมียอดขายที่แตกต่างกัน สินค้าที่ขายดีถูกบอกปากต่อปากจนกลายเป็นกระแส เมื่อมีกระแส ผู้คนก็จะจดจำและซื้อเฉพาะของที่ตนเองรู้จัก แน่นอนว่าเราจะต้องปรับแผนการตลาดตามกฎของอุปสงค์/อุปทาน จำนวนการผลิตเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงให้สินค้าขายดีมีจำนวนเพิ่มขึ้นและลดจำนวนสินค้าชนิดอื่นๆลง ซึ่งทำให้จำนวนการส่งออกต้องผกผันตามไปด้วย การโฆษณาก็จะทำให้สินค้ายอดขายสูงเป็นตัวชูโรง และสินค้าอื่นๆเป็นเพียงตัวประกอบ เวลาใครขอสปอนเซอร์ก็จะมีแต่ภาพของสินค้าขายดีปรากฏให้เห็นตามงานหรือในรายการทีวีต่างๆเท่านั้น
นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในโลกของการทำธุรกิจโดยทั่วไป ซึ่งไม่ต่างจากวงการไอดอล หากแต่สินค้านั้นไม่ใช่สิ่งของ กลับเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีลมหายใจ มีความรู้สึกนึกคิด....และมีความฝัน
โดยเฉพาะกับโมเดลแบบ 48 group ที่หนึ่ง*ซิงเกิ้ลจะมีเพียง 16 คนเท่านั้นที่จะเป็นตัวหลัก ได้ขึ้นปกซีดีและมีชื่ออยู่ภายใน โดยมีเกณฑ์คัดเลือกคือคาแรคเตอร์ที่เหมาะสม ความสามารถ และความนิยมในโลกโซเชียล ใครที่มีความนิยมสูงก็จะได้เป็นตัวหลักตลอด สังคมก็จะได้เห็นหน้าบ่อย นายทุนหรือสินค้าต่างๆก็จะป้อนงานให้เหล่าตัวหลักทั้งหลายที่พวกเขาคุ้นหน้าคุ้นตา ทำให้มีความไม่เท่าเทียมกันในการรับงาน ซึ่งหมายถึงรายได้ รวมถึงพื้นที่สื่อในการโปรโมตวงและตนเองด้วย จึงเกิดเป็นเส้นขนานระหว่างตัวหลักและตัวสำรอง ที่ไม่อาจรู้เลยว่าจะมาบรรจบกันเมื่อไร
*ซิงเกิ้ล (single) = เพลงที่ใช้โปรโมต
(จริงๆมันก็คือโมเดลธุรกิจค่ายเพลงทั่วไปแหละ ศิลปินที่ทำกำไรให้ค่ายได้มาก ค่ายเพลงก็จะยิ่งผลักดัน ยิ่งลงทุนโปรโมตให้มากกว่า ก็จะยิ่งได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ และสวนทางกับศิลปินเบอร์อื่นที่ไม่ดังเท่า แม้จะ*เดบิวต์พร้อมกันก็ตาม)
*เดบิวต์ (debut) = การเปิดตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
....
“....ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเป็นแบบนี้ได้ยังไง แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้ว จะให้ทิ้งมันไปเหรอ? ก็ไม่ใช่ เราก็แค่ไขว่คว้าและทำมันให้ดีที่สุด....”
คือคำพูดจากปากของสมาชิกคนหนึ่งในวงเดียวกันกับน้องคนแรก แต่อยู่ในสถานะของตัวท็อปที่ติดเซมฯมาตลอดทุกซิงเกิ้ล
ถ้าประโยคก่อนหน้าสะท้อนมุมมองเชิงธุรกิจ ประโยคนี้ก็คงสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดี เพราะคนที่มีความฝัน เมื่อมีโอกาสดีๆแวะเวียนเข้ามาหา ใครล่ะจะไม่รีบคว้าเอาไว้
จริงอยู่ที่คนข้างบนอาจเห็นใจในคนข้างล่าง แต่นี่คือชีวิตจริงไม่ใช่ในละคร ในเมื่อเราต่างมีความฝันเดียวกัน และชีวิตก็เกิดมาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น ใครบ้างจะสวมบทนางเอกผู้แสนดียอมเสียสละโอกาสในการประสบความสำเร็จนี้ให้กับคนอื่น แล้วตนเองก็ดิ้นรนรอความหวังต่อไป?
เชื่อว่าถ้าน้องอันเดอร์คนนั้นได้โอกาส ก็คงทำแบบเดียวกันกับตัวท็อปคนนี้นั่นแหละ เช่นเดียวกันกับสังคมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง แม้จะมีน้ำใจซึ่งกัน แต่เมื่อถึงเวลาน้ำขึ้นก็แย่งกันรีบตักอยู่ดี ใครดีใครได้เป็นธรรมดาอยู่แล้ว
....
“การถูกลืม เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับเรา”
อีกหนึ่งประโยคแทงใจดำ และน่าจะสะท้อนสังคมในชีวิตจริงแบบกลายๆได้
ส่วนตัวเข้าใจความรู้สึกนี้ดี เพราะเคยมีโอกาสไปเป็นนักแสดง*เอ็กซ์ตร้าเหมือนกัน ตื่นตั้งแต่เช้ามืดไปถ่ายมิวสิควิดีโอแค่ฉากเดียว แต่กว่าจะได้ถ่ายก็ปาไปเกือบ 3 ทุ่ม เพราะรอนักแสดงหลักที่ได้คิวตอนบ่ายมาเข้าซีน และที่พีคสุดก็คือ....สุดท้ายเมื่อได้ฤกษ์ออกอากาศ ฉากนั้นโดนตัดออกจนหมด (WTF!!!!)
*เอ็กซ์ตร้า (extra) = ตัวประกอบ
อีกด้านหนึ่งในชีวิตจริง ผมเองก็เคยใช้ชีวิตอย่างมนุษย์ล่องหนมาก่อน สมัยเรียนค่อนข้างเป็นเด็กเก็บตัว เงียบสงบ รูปร่างหน้าตาก็ไม่ดี เรียนก็ไม่เก่ง เล่นกีฬาก็ไม่ได้ ไม่มีอะไรเด่นสักอย่าง พูดอะไรก็ไม่มีใครเชื่อ จะมีปากเสียงกับใครก็ไม่กล้า เพื่อนสักคนก็ไม่มี แม้แต่ครูประจำชั้นยังจำชื่อไม่ได้ด้วยซ้ำ!?
ว่าเป็นตัวละครลับโดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งอันตรายไม่น้อยเลยต่อการใช้ชีวิตในอนาคต เพราะมันหมายถึงการที่คนๆหนึ่งไม่ได้เรียนรู้วิธีเข้าสังคม อันเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่มีวัฒนธรรม เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะลำบากในการใช้ชีวิตให้เป็นสุข และเสี่ยงต่อการไม่รู้คุณค่าของตนเอง อันนำไปสู่สภาวะซึมเศร้าได้
นี่แหละ ความน่ากลัวของการถูกลืม
....
โดยรวมแล้ว GIRLS DON’T CRY ไม่ใช่สารคดีที่เล่าประวัติของ BNK48 แต่คล้ายกับเป็นกระบอกเสียงของสมาชิกแต่ละคน ว่าเมื่อถูกกลายสภาพให้เป็นสินค้า มีจุดขายคือความพยายาม พวกเขาจะมีความรู้สึกอย่างไรในการแข่งขันทางการตลาดของความฝัน โดยมีเพื่อนพี่น้องผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกันเป็นคู่แข่ง พร้อมกับสอดแทรกข้อมูลด้านวัฒนธรรมไอดอลญี่ปุ่นในระบบ 48 group เพื่อให้ผู้ชมที่ไม่ใช่โอตะได้เข้าใจ และเข้าถึงความรู้สึกของน้องๆอันเป็นเนื้อหาหลักของหนังได้ แม้อาจจะไม่อินเท่ากับเหล่าโอตะทั้งหลายก็ตาม
เอาเป็นว่า อยากให้ไปดูกัน แล้วคุณจะรู้ว่าน้ำตาวัยรุ่นนั้นมีหลายความหมายจริงๆนะ!?
Commentaires