[SPOIL & REVIEW] Burning มอดไหม้เปลือกสังคมทุกชนชั้น
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Aug 4, 2018
- 2 min read

ความสัมพันธ์ระหว่างคนสามคน สะท้อนตัวตนของมนุษย์ในหลากด้านหลายวัฒนธรรม จากเรื่องสั้นของ Haruki Murakami (Barn Burning จากหนังสือรวมเรื่องสั้น “เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน”) เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง Burning ที่ชวนให้ผู้ชมออกมาถกประเด็นกันต่อได้อีกยาว
ยอมรับว่าเราชอบหนังสไตล์นี้มากๆ แต่ก็สารภาพอีกเช่นกันว่าไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด และคิดว่าผู้กำกับ (รวมถึงผู้ประพันธ์) คงตั้งใจให้ผู้ชมได้ตีความในแนวคิดของตนเอง ซึ่งเราจะขอบรรยายในส่วนที่ตัวเองพอจับต้องได้ก็แล้วกัน
ส่วนตัวเข้าใจว่าหนังได้สะท้อนและเสียดสีในเรื่องของช่องว่างในสังคมเป็นหลัก (อาจจะหนักไปทางสังคมเกาหลีด้วยซ้ำ) และมีรายละเอียดยิบย่อยของธรรมชาติมนุษย์ เช่น ความรัก ความเศร้า ความหลงใหล ความฉงนใจ ความริษยา ความโกรธแค้น ฯลฯ ซึ่งอธิบายด้วย scene ต่างๆ และ dialog ที่แข็งแรงมาก ทำให้หนังเรื่องนี้ดูไม่ยากจนเกินไป โดยเราจะอธิบายเป็นข้อๆ ไป ดังนี้
- อีจงซู แทนชนชั้นล่างที่เคยพยายามจะยกระดับตัวเอง แต่สภาพแวดล้อมกลับไม่เป็นใจ พ่อติดคุก แม่หนีไปพร้อมทิ้งหนี้สินไว้ ตัวเองอยากเป็นนักเขียนแต่ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร มีเป้าหมายแต่พยายามแค่ไหนก็ไม่สำเร็จ มีทรัพย์สินเป็นบ้านเก่าๆแถบชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือ-ใต้ กับวัวอีกหนึ่งตัวเท่านั้น
- ชินแฮมี แทนหญิงสาวชนชั้นกลางที่ไต่ขึ้นมาจากระดับล่างด้วยการเข้ามาหางานทำในเมือง แต่สัคมเมืองก็ตีกรอบเธอด้วยวัฒนธรรมต่างๆ เธอใฝ่ฝันถึงความอิสระในชีวิต จนบางครั้งอยากหายไปจากโลกนี้เสียดื้อๆเลย
- เบน แทนชนชั้นสูงผู้เพียบพร้อมไปทุกอย่างจนไม่มีเป้าหมายในชีวิต เป็นเศรษฐีหนุ่มรูปลักษณ์ดีที่ชีวิตนี้แทบไม่ต้องทำอะไรก็อยู่ได้สบาย แต่กลับมีใครเข้าถึงตัวตนของเขาได้เลย
....
- จงซู ได้พบกับ แฮมี เพื่อนบ้านวัยเด็กที่กำลังทำงานเป็นพิธีกรกึ่งพริตตี้อยู่ โดยแฮมีเผยว่าได้ทำศัลยกรรมมาทั้งหน้า สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกาหลีมีวัฒนธรรมการทำศัลยกรรมเป็นเรื่องทั่วไป ที่แม้แต่ชนชั้นกลางก็สามารถทำได้
- ตอนที่ แฮมี นั่งดื่มกับ จงซู แล้วเผยว่าตนเรียนแสดงละครใบ้ พร้อมกับประโยคทองที่ว่า “หลักสำคัญคือไม่ใช่การเชื่อว่ามันมีอยู่ แต่คือการต้องลืมว่ามันไม่เคยมีอยู่ต่างหาก” ชวนให้ผู้ชมได้คิดหาความหมายกัน ว่าสิ่งที่ ‘มีอยู่’ และ ‘ไม่มีอยู่’ ของแต่ละคนนั้นมีความหมายเช่นไร
- ซึ่งภายในเรื่อง ประโยคนี้ดูคล้ายจะสื่อถึงชีวิตของ จงซู ว่าฝันที่อยากเป็นนักเขียนนั้นยังคงอยู่ เรามีสิทธิ์เชื่อว่ามันจะเป็นจริงได้ แต่ต้องลืมมันไปก่อน เพื่อกลับสู่โลกแห่งความจริงที่ตัวเองยังไม่มีงานทำ
- การที่ แฮมี ชวน จงซู ไปที่ห้อง ด้วยอ้างว่าจะไปแสวงหาตัวตนบางอย่างที่แอฟริกา และอยากให้ช่วยให้อาหารแมวในระหว่างที่เธอไม่อยู่ แต่สุดท้ายกลับลงเอยว่าได้รวมรักกันทั้งที่เพิ่งเคยเจอกันในรอบหลายปี นี่อาจเป็นอุบายง่ายๆซื่อๆที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องการสนองกามารมณ์กับชายที่หลงรักมานานก็เป็นได้ อีกทั้งยังมีถุงยางเก็บไว้ในห้องด้วย ไม่แน่ว่า จงซู อาจไม่ใช่คนแรกที่เธอใช้อุบายนี้
- ห้องพักของแฮมีแสดงให้เห็นถึงความเป็นปุถุชนธรรมดา ที่ใช้ชีวิตตามสะดวกมากกว่าความเป็นระเบียบ ซึ่งทำให้เห็นว่าสถานะของทั้ง จงซู และ แฮมี นั้นไม่ต่างกันนัก....จะต่างก็แค่ จงซู ยังว่างงานและอาศัยอยู่บ้านนอกเท่านั้นเอง
- การปรากฏตัวของ เบน ทำให้สถานะของ จงซู ดูเปลี่ยนไป บทสนทนาในร้านเครื่องในตุ๋นเป็นจุดเริ่มต้นที่ค่อยๆเผยสิ่งที่หนังต้องการจะสื่ออย่างแท้จริง ชีวิตของ จงซู กับ เบน ดูต่างกันเกินไป โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า “ฉันไม่เคยร้องไห้” กับ “พอไม่มีน้ำตา มันก็ไม่มีหลักฐานว่ามันคือความเศร้า” เหมือนจะยิ่งเหยียบ จงซู ให้ต่ำลงจนโงหัวไม่ขึ้น....เป็นอีกหนึงประโยคทองที่ติดตรึงใจมาก
- จงซู ได้กล่าวถึง The Great Gatsby นวนิยายของ F.Scott Fitzgerald ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์นำแสดงโดย Leonardo DiCarprio รับบทเป็น Jay Gatsby มหาเศรษฐีหนุ่มผู้รวยไม่รู้เรื่อง และไม่มีใครรู้ว่าเขารวยได้อย่างไร รู้แค่ว่าชอบฟังเพลงแจ๊ส และนิยมจัดปาร์ตี้ไปวันๆ ซึ่งคล้ายกับตัวของ เบน มาก....ไม่แน่ว่า Gatsby อาจเป็นแรงบันดาลใจของตัวละคร เบน ในเรื่องก็เป็นได้
- พฤติกรรมของ แฮมี หลายครั้งสะท้อนตัวตนของชนชั้นกลางช่างฝันอย่างสุดโต่ง จนไม่อาจแยกได้ว่าเรื่องไหนจริง เรื่องไหนหลอก เช่นการบินไปแอฟริกาอย่างไม่มีเหตุผลทั้งที่ตนเป็นหนี้บัตรเครดิต การพยายามเลี้ยงแมว (ที่ไม่มีตัวตน) ทั้งที่หอพักไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ การเต้นของชนเผ่าหนึ่งในฉากที่ดื่มร่วมกันกับเพื่อนของ เบน ที่ราวกับว่าเธอได้ไปแอฟริกามาแล้วจริงๆ ทั้งที่เจ้าตัวบอกว่ายังไปไม่พ้นจากสนามบินเคนย่าเลย และการยืนยันของครอบครัวของเธอเอง ว่า แฮมี เป็นคนโม้เก่งจนฟังดูน่าเชื่อถือ
- ทั้งนี้ การเปลือยอกเต้นกลางแจ้งก็แสดงให้เห็นถึงความอยากเป็นอิสระของชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนเพ้อฝันเช่นกัน
- ในฉากเดียวกัน จงซู พูดกับ แฮมี ว่าการกระทำเช่นนั้นมีแต่ “อีตัว” เท่านั้นแหละที่ทำ แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องปกติทางวัฒนธรรมไปเสียแล้ว
- ฉากที่ จงซู คุยกับเพื่อนร่วมงานของ แฮมี ยิ่งตอกย้ำเรื่องเหยียดเพศเข้าไปอีก โดยเธอกล่าวว่าเพศหญิงลำบากเพียงใด สวยก็ผิด ไม่สวยก็ไม่ชอบ แต่งตัวโป๊ก็ไม่ดี แต่งมิดชิดก็ไม่พอใจ ฯลฯ และสรุปง่ายๆว่า “ในโลกนี้ไม่มีที่ยืนสำหรับผู้หญิงหรอก” ซึ่งโดนใจเรามากเลย
- scene ที่เราชอบที่สุดในเรื่อง คือตอนที่ จงซู ไล่ตาม เบน ไปทุกที่ จนมาถึงทางขึ้นเขาแห่งหนึ่ง ซึ่ง จงซู ได้แค่ก้มแอบมอง เบน โดยมีรถ Porsche สุดหรูคั่นกลาง ฉากนี้แสดงให้เห็นภาพชัดๆ เลยว่าชนชั้นที่ต่ำกว่าได้แค่ก้มหน้าก้มตาอยู่บนทางลาดชันที่มีแต่ลงไปข้างล่าง ไม่มีทางเทียบได้กับชนชั้นสูงอย่าง เบน ที่ได้มองทิวทัศน์อันงดงามข้างหน้าอย่างไม่สนใจชนชั้นด้อยกว่าที่อยู่ข้างหลังเพียงไม่กี่ก้าว แม้ภายหลัง จงซู จะหยุดก้มแล้วยืนขึ้นมา แต่ก็ไม่อาจมองเห็นภาพที่ เบน เห็นตรงหน้าได้....แม่งโคตรกระแทกใจเราเลย!?
- แต่นั่น ก็ทำให้ผมเริ่มเดาได้ว่า จงซู คิดที่จะต่อกรกับ เบน แล้ว อาจมีฉากสู้กันของทั้งสอง ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละชนชั้นก็เป็นได้
- ปริศนาของ แฮมี ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ตอนแรกคิดว่าการค้นพบน่าจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่แล้วหนังก็แสดงให้เห็นว่า แม้กายเนื้อจะหายไป แต่เธอยังคงมีร่องรอยที่แสดงตัวตนอยู่ในทุกขณะของ จงซู และ เบน เสมอ คล้ายกับศาสตร์ละครใบ้ที่เธอร่ำเรียนมา ว่าตกลงแล้วเธอ 'มีอยู่' หรือ 'ไม่มีอยู่' กันแน่ และทั้งคู่ควร 'ลืมว่าเคยมีอยู่' หรือไม่?
- ฉากที่ จงซู พิมพ์งานเขียนในห้องของ แฮมี น่าสนใจว่า เรื่องราวทั้งหมดเป็นเพียงจินตนาการของเขาเองหรือเปล่า?
- หลังจากได้ร่วมรักกับ แฮมี ตัว จงซู ก็เริ่มมีพฤติกรรม ‘ช่วยตัวเอง’ ทุกครั้งที่เข้ามาให้อาหารแมวในห้องของเธอ ตรงนี้น่าจะสื่อได้ว่า บางทีชนชั้นล่างก็ไม่ได้ต้องการความสุขไปมากกว่านี้ ความสัมพันธ์กับกามารมณ์อาจเป็นเพียงสิ่งที่เขายึดติดและแสวงหา ยิ่งกว่าอนาคตหรือทรัพย์สิน ทว่าไม่ใช่กับ เบน ชนชั้นสูงผู้เพียบพร้อมไปหมดทุกอย่าง ที่มักแสวงหาสิ่งใหม่อยู่เสมอ ราวกับว่าหาความสุขเป็นหลักเป็นแหล่งไม่ได้ เปรียบดั่งการเผาเรือนเพาะชำที่ยังต้องเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ....แน่นอนว่า การที่อยู่ดีๆก็เลี้ยงแมวขึ้นมาเฉยๆ หรือของในลิ้นชักในห้องน้ำที่ไม่เคยซ้ำเดิม ก็เป็นนัยหนึ่งที่ตอกย้ำประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจน
- การที่ จงซู ไปสมัครงานแต่ตัดสินใจวิ่งออกมาตามหา แฮมี หรือที่เขาจินตนาการว่า แฮมี กำลังนอนกอดก่ายเขาอยู่ ยิ่งตอกย้ำประเด็นในข้อที่แล้ว และตอนที่ จงซู เรียกแมวของ เบน ด้วยชื่อที่ แฮมี เคยเรียก แล้วแมวก็เข้าหาทันที อาจเป็นการย้ำชัดอีกทีว่า จงซู ยึดติดกับ แฮมี ขนาดไหน
- ฉาก จงซู นั่งคุยกับ เบน ที่บ้านของตน เหมือนเป็นการศึกษาและพยายามปรับตัวเข้าหากันระหว่างชนชั้นล่างกับชนชั้นสูง แต่สุดท้ายก็แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถเข้ากันได้จริงๆ ชีวิตของแต่ละฝ่ายดูเกินจะเอื้อมถึงซึ่งกันและกัน....dialog ที่ จงซู ถาม เบน ว่ากำลังทำงานอะไรอยู่ แต่ เบน กลับตอบว่าไม่ได้ทำงาน แต่กำลัง “เล่นสนุกอยู่” เป็นการตบหน้า จงซู อย่างจัง ว่ามึงไม่มาทางเข้าถึงกูได้หรอก รวมถึงการเผยว่าชอบเผาเรือนเพาะชำเป็นประจำทุก 2 เดือน ยิ่งย้ำชัดว่า เบน ไม่เคยเห็นกลุ่มชนชั้นล่างในสายตาเลย ประหนึ่งบอกเป็นนัยว่าเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะเข้าถึงชนชั้นล่างเช่นกัน
- scene ที่ เบน กำลังแต่งหน้าให้หญิงสาวคนหนึ่ง และการที่หาวนอนใส่อย่างไม่แยแสขณะฟังเรื่องเล่าของคนอื่น แล้วหันมายิ้มให้ จงซู ยิ่งย้ำชัดในประเด็นที่แล้ว ว่าเขาแค่ ‘เล่นสนุก’ และเป็นการทิ่มแทงชนชั้นล่างอย่าง จงซู ซ้ำๆ
- การวิ่งสำรวจเรือนเพาะชำทุกวันของ จงซู อาจสื่อถึงชนชั้นล่างที่พยายามวิ่งไปให้ทันชนชั้นสูง....แต่สุดท้ายวิ่งเท่าไรก็ตามไม่ทัน และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาก้าวหน้าไปกว่าเดิมตั้งแต่เมื่อไร
- ตอนที่ จงซู จุดไฟเผาเรือนเพาะชำก่อนจะได้สติและดับไฟได้ทันเวลา เหมือนจะสื่อว่างชนชั้นล่างเองก็มีวิธียกระดับตัวเอง ด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมของชนชั้นสูงอย่างผิวเผิน....คล้ายกับการที่เราซื้อของแบรนด์เนมก๊อปเกรด A นั่นแหละ
- ตอนจบของเรื่องเป็นไปตามที่คาดเดาไว้เล็กน้อย ที่คลาดเคลื่อนคือไม่มีฉากสู้กัน แต่กลับเป็น ‘ฆ่า’ กันเลยทีเดียว โอ้โห สะเทือนใจสุดๆ เหมือนยิ่งตอกย้ำว่าต่อให้พยายามแค่ไหน ชนชั้นล่างก็ไม่มีทางขึ้นมาเทียบเคียงกับชนชั้นสูงได้เลย ประหนึ่งเป็นการ ‘เผาผลาญ’ ความเป็นมนุษย์ที่ใช้อากาศหายใจเดียวกันจนหมดสิ้น และทางเดียวที่จะก้าวเหนือกว่าก็คือการกำจัดทิ้งนั่นเอง
- ซึ่งไม่ต่างอะไรกับที่ เบน ชอบเผาเรือนเพาะชำเป็นงานอดิเรก เพราะเขาเชื่อว่ามันสกปรกและไร้ค่า การกำจัดทิ้งจะช่วยสร้างสมดุลของการอยู่ร่วมกัน เหมือนที่เขาเปรียบฝนที่ตกลงมาแล้วพัดพาชีวิตและทรัพย์สินของใครไปอย่างไม่เลือกหน้า เป็นกฎการกำจัดทิ้งของธรรมชาติอย่างหนึ่งเช่นกัน....scene นี้ก็โดนใจเราอีกเหมือนกัน
- สุดท้าย เมื่อชนชั้นต่ำกว่าถึงคราวจนตรอก จงซู จึงใช้วิธีเดียวกับที่ เบน ทำเป็นงานอดิเรก ด้วยการเผารถ Porsche ไปพร้อมกับศพของ เบน ที่เขาลงมือสังหารด้วยมือตัวเอง....นี่อาจเป็นการสร้างสมดุลจากมุมของชนชั้นล่างก็เป็นได้ และปฏิบัติตามวิถีของชนชั้นสูง แต่อาจมีผลลัพธ์ที่เลยเถิดไปไกลกว่า
- คำว่า Burning สำหรับเรา อาจหมายถึงการที่ปรากฏตัวของ เบน ค่อยๆแผดเผาทุกสิ่งอย่างภายในใจของ จงซู ทุกคำพูด ทุกการกระทำของ เบน เหมือนเป็นการเร่งไฟนั้นให้แรงยิ่งขึ้น จนสุดท้าย จงซู ร้อนใจจนทนไม่ไหว ต้องกำจัด เบน ทิ้ง เหมือนเป็นการเอา ‘ก้อนหิน’ ออกจากหัวใจ อย่างที่ เบน เคยพยายามเล่นกลหลอกเด็กกับ แฮมี ที่ “หายตัวไปราวกับควัน....(ไฟ!?)”
....
ในความเห็นของเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะบอกเราว่าการที่ไม่พยายามเข้าหากัน หรือเข้ากันไม่ถึงระหว่างชนชั้น คือสิ่งที่ทำให้แต่ละฝ่ายต่างไม่มีตัวตนซึ่งกันและกัน มองไม่เห็นซึ่งกันและกัน เป็นการ ‘มีอยู่’ ที่ ‘ไม่มีอยู่’ ที่หนังสื่อผ่านศาสตร์ของละครใบ้ และอาจนำมาสู่การกำจัดทิ้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลระหว่างกัน....มนุษย์ร่วมโลกอย่างเราจะปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ต่อไปจริงๆหรือ?
โดยรวมแล้วเป็นภาพยนตร์ที่สนุกทีเดียว น่าติดตามตลอดทั้งเรื่อง (โดยเฉพาะช่วงท้าย) แม้จะมีปริศนามากมายที่ไม่ได้เล่าออกมาตรงๆ แต่ก็น่าจะเป็นประสงค์ของหนังที่ชวนให้ผู้ชมถกเถียงกันต่อไปอย่างไม่รู้จบ
หากเราตกหล่นส่วนไหนไปต้องขออภัยด้วย และใครอยากแสดงความคิดเห็นก็เชิญได้เลยนะ เราเชื่อว่าแต่ละคนคงได้ความหมายของหนังเรื่องนี้แตกต่างกันไป ซึ่งเราอยากรู้มากๆเลยล่ะ :)
ป.ล. - สิ่งที่เราไม่เข้าใจก็มีอยู่บ้างนะ เช่น เรื่องราวของพ่อ จงซู ที่ตอนแรกดูเหมือนจะมีบทบาทสำคัญ แต่สุดท้ายกลับไม่ได้เชื่อมโยงอะไรกับเรื่องเลย เราสัมผัสได้แค่พ่อของเขามีบทเพื่อตอกย้ำความ loser ของ จงซู เท่านั้น รวมถึงเรื่อง ‘บ่อน้ำ’ ข้างบ้าน จงซู ที่บางคนก็บอกว่าไม่มี แต่แม่ของ จงซู กลับบอกว่ามี มันหมายความว่ายังไงกันแน่??
ป.ล. 2 - บางฉากบางตอน หรือบทพูดบางคำอาจไม่ตรงเป๊ะทั้งหมด ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย เพราะเราดูแค่รอบเดียวเท่านั้น จำได้ไม่หมดจริงๆ
Comments