[HUMANGA] ทาเคฮิสะ ยูจิ : ทรงผมกับความสั่นคลอนทางอำนาจ
- สินิทธ์ ปนุตติกร
- Jun 25, 2018
- 1 min read

คงเป็นเรื่องผิดปกติเกินไปสำหรับคนญี่ปุ่นที่จะมีผมสีน้ำตาลมาตั้งแต่เกิด
และด้วยสีผมนี้เอง ที่ทำให้ “ทาเคฮิสะ” ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้
(1)
ทาเคฮิสะ ยูจิ นักเรียนไฮสคูลผู้ถูกล้อเรื่องสีผมมาตั้งแต่เด็ก และไม่ว่าจะย้ายไปอยู่โรงเรียนไหน ก็มักจะโดนหาเรื่องจากนักเลงขาใหญ่ประจำโรงเรียนอยู่เสมอ เขาจึงจำเป็นต้องสู้เพื่อศักดิ์ศรีและความอยู่รอด จนกลายเป็นนักเลงในชุดนักเรียน เสพติดการใช้กำลังไปโดยปริยาย ไม่เว้นกระทั่งอาจารย์ฝ่ายปกครองที่มักเอาเรื่องสีผมไปโยงถึงเรื่องระเบียบวินัยอื่นๆ คล้ายจ้องโจมตีเพื่อหาเรื่องลงโทษเขาให้ได้
และในเมื่อผมสีน้ำตาลมันหนักหัวมึงมากนัก สุดท้าย ทาเคฮิสะ จึงทำการแก้ไข ด้วยการย้อมสีทองกลบแม่งเสียเลย!?
(2)
จริงๆแล้ว แก่นเรื่องของการ์ตูน “เทวดาหน้าโฉด” (Angel Densetstu) คือเรื่องการตัดสินคนที่ภายนอกของสังคม พระเอกอย่าง คิตาโน่ เซอิจิโร่ ผู้มีจิตใจดุจเทวดา แต่ดันมีหน้าตาเยี่ยงซาตาน!? การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของเขานั้นสนุกปนสงสารและน่าสนใจมาก แต่ตัวละครที่สะท้อนความคิดบางมุมของผมได้เป็นอย่างดีกลับเป็นพระรองอย่าง ทาเคฮิสะ
ตอนที่อ่านเรื่องราวของเขาแล้วมันแบบ....โอ้โห แค่เรื่องผมมันมีผลกระทบต่อสังคมรอบข้างและชีวิตส่วนตัวขนาดนี้เชียวหรือ??
(3)
ย้อนกลับไปสมัยผมเป็นนักเรียน ตอนนั้นเทรนด์ผู้ชายผมยาวกำลังเป็นที่นิยม ดารา/นักร้องชายหลายคนต่างไว้ผมยาวกันถ้วนหน้า ไอ้เราก็อยากเท่เหมือนเขาบ้าง แต่ทำไม่ได้ เพราะตามระเบียบของโรงเรียนเราต้องตัดผมสั้นเกรียนติดหนังหัวเท่านั้น
จึงเป็นความฝังใจ (หรือเก็บกด?) มาตลอดสิบกว่าปีในการอยากมีผมยาวๆ กว่าจะสมดังปรารถนาได้ต้องรอให้ถึงตอนเข้ามหา’ลัยกันเลยทีเดียว แต่ 4 ปีก็เป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป เพราะเมื่อจบปริญญาออกมาหางานทำ ก็พบว่าต้องตัดผมสั้นอีกแล้ว....ไม่สิ ต้องตัดตั้งแต่รับปริญญาเลยนี่หว่า!?
ไม่ว่าผมจะไปทำงานที่ไหน จะต้องมีปัญหาเรื่องทรงผมทุกทีไป ของผมนี่มักจะโดนเรื่องผมยาว ส่วนคนอื่นๆส่วนมากจะโดนเรื่องสีผมกัน โดยเขาอ้างว่าผิดระเบียบ แลดูไม่สุภาพ ดูไม่ค่อยมีมารยาทหรือกาลเทศะเท่าไร
เอ นี่เราต้องถูกจำกัดสิทธิมนุษยชนจนวัยเกษียณเลยหรือนี่!?
(4)
ไอ้ทรงผมสั้นเกรียนติดหนังหัวเนี่ย คาดว่าน่าจะมีที่มาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 * ในยุคที่โรคเหากำลังระบาด ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารญี่ปุ่นมาตั้งฐานอยู่ในประเทศไทยพอดี ทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นต่างไว้ทรงผมเกรียนติดหนังหัวสามด้าน เหลือผมสั้นๆไว้ด้านบนหน่อยนึง ทางรัฐบาลไทยเห็นว่าเข้าที จึงให้เด็กไทยตัดผมทรงเดียวกันนี้เพื่อป้องกันโรคเหา จากนั้นก็ปฏิบัติตามกันเรื่อยมา จู่ๆก็อยู่ในระเบียบของรัฐบาลสมัย จอมพล ถนอม กิตติขจร เฉยเลย (จาก ‘ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉ.ที่ 132’ ณ วันที่ 22 เม.ย. 2515)
* ข้อมูลจากบทความของ ศ.ดร. นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ : หนังสือพิมพ์มติชน ฉ. วันที่ 2 พ.ย. 2550
กระทั่งปัจจุบันก็ยังเข้มงวดกันหนักหนา จนลืมไปว่าโรคเหามันเลิกระบาดมากี่สิบปีแล้ว!?
และมันก็เป็นต้นแบบของการกำหนดระเบียบเรื่องทรงผม ที่ทุกหน่วยงานต้องมีไว้กำหนดความเรียบร้อย เพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร
แล้วอะไรคือระเบียบวินัย อะไรคือมารยาท อะไรคือความสุภาพเรียบร้อย ในเมื่อมันมีที่มาจากการ ‘กลัวเหา’
หรือพวกผู้ใหญ่แค่กลัวว่าอำนาจของตนจะสั่นคลอนเท่านั้น!?
เมื่อวัฒนธรรมในโลกตะวันออกคือผู้น้อยต้องเคารพผู้ใหญ่ ผู้เป็นใหญ่จึงต้องสร้างระเบียบขึ้นมาเพื่อควบคุมผู้น้อย โดยเริ่มจากสิ่งที่จับต้องง่ายอย่างรูปลักษณ์ภายนอก ว่าต้องแต่งตัวแบบนี้ ผมสีนี้ ทรงนี้ ฯลฯ จึงจะเหมาะสม ผู้น้อยก็ต้องปฏิบัติตามแต่โดยดี
และเมื่อใดทีมีคนแตกต่างไปจากระเบียบดังกล่าว เมื่อนั้นผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมคนนี้ได้ รู้สึกตัวเองมี power ลดลง คล้ายโดนหยามโดนหมิ่น พวกเขาจึงต้องใช้อำนาจของความ ‘เป็นใหญ่’ บีบบังคับ กำหนดเป็นกฎหมาย มีบทลงโทษเพื่อให้ผู้น้อยเข็ดหลาบ ซึ่งบางครั้งก็ใช้วิธีการที่รุนแรงและไร้มนุษยธรรม
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ไอ้ระเบียบดังกล่าวเนี่ย ต่อมาได้กลายเป็นมายาคติทางสังคมไปเป็นที่เรียบร้อย ทุกวันนี้สังคมมีชุดความเข้าใจไปโดยปริยายแล้ว ว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อยต้องเป็นแบบไหน แม้ไม่ต้องรู้กฎหมายบ้านเมืองก็ตาม เพราะมันคือ ‘กฎสังคม’ ที่บังคับใช้กันทั่วไป
คนที่แตกต่างจึงเป็นที่จับจ้องอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะแง่ดีหรือร้ายก็ตาม
และน่าจะเดือดร้อนเป็นที่สุด สำหรับผู้มีอำนาจในการปกครองคนๆนั้น
(5)
ผมว่านะ พวกผู้ใหญ่ที่เสพติดอำนาจอย่างบ้าคลั่งเนี่ย บางทีอาจมีพื้นฐานมาจากความ ‘กลัว’ ก็เป็นได้
ยิ่งบ้าอำนาจมากเท่าไร แสดงว่ายิ่งขี้ขลาดมากเท่านั้น
ซึ่ง ทาเคฮิสะ ได้สะท้อนเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน!?
Comments